ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทลายชุดความคิด! ศัลยกรรมข้ามเพศไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม สสส.-กสม.-กทม. สานพลังภาคี จัดกิจกรรม “เมื่อการข้ามเพศ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ” เคลื่อนระบบบริการสุขภาพบุคคลหลากหลายทางเพศ หลังพบข้อจำกัดทั้งปริมาณ ความรู้ความเข้าใจ  อึ้ง!! พบการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด อันตรายถึงชีวิต นำร่องเปิดคลินิกหลากหลายทางเพศ 4 ภาค และใน กทม. 11 แห่ง

ความเท่าเทียมในสังคมไทยเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังขาดสวัสดิการที่เหมาะสม โครงการ “ส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย” จึงจัดแถลงข่าวและฉายสารคดี “เมื่อการข้ามเพศ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ”  เพื่อสนับสนุนให้คนข้ามเพศมีช่องทางสื่อสารความต้องการ ข้อจำกัดด้านบริการสุขภาพ และร่วมกันพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนข้ามเพศ นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แม้ไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกเลือกปฏิบัติในสังคม จากความเชื่อและทัศนคติแง่ลบ ส่งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ เช่น เป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก ถูกเลือกปฏิบัติ และพบว่าเข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่ากลุ่มรักต่างเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่จำกัด มีประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องเพศ รวมถึงการขาดนโยบายทางสุขภาพที่ครอบคลุมความจำเป็นของผู้รับบริการ เช่น บุคคลข้ามเพศที่ต้องใช้ฮอร์โมน ค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกกังวล ขาดความมั่นใจ และไม่อยากเข้ารับบริการด้านสุขภาพ 

“ในบุคคลข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ส่วนใหญ่หาซื้อฮอร์โมนกินเองตามท้องตลาด หรืออินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดการใช้ฮอร์โมนเกินขนาด หรือผิดวิธี มีความเสี่ยงทางสุขภาพ อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อร่างกายและเป็นอันตรายถึงชีวิต ขณะนี้ สสส. ร่วมกับ GenV Clinic คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี สานพลังภาคีเครือข่าย จัดตั้งศูนย์ให้บริการสุขภาพบุคคลข้ามเพศ ทั้ง 4 ภาค เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สำหรับงานวันนี้เป็นการสื่อสารเรื่องราวชีวิตในแง่มุมต่างๆ ของบุคคลข้ามเพศ ทั้งจากหนังสารคดี การเสวนา และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นต้นทุนที่จะนำไปขับเคลื่อนการทำงานสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ ให้ได้รับสิทธิบริการทางสุขภาพและสังคมที่สอดคล้องความจำเป็นในการใช้ชีวิตต่อไป” นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน การให้บริการเพื่อการข้ามเพศถือเป็นความจำเป็นด้านสุขภาพของกลุ่มคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด พวกเขามีสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงในวิถีชีวิตของตัวเอง การข้ามเพศไม่ใช่การเสริมความงาม พวกเขาจึงไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษแต่อย่างใด รัฐจึงต้องให้การคุ้มครอง 

ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศภาวะในสังคม และส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างทั่วถึง โดยกรุงเทพมหานคร เปิดนำร่อง “คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic)” จำนวน 11 แห่ง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง กรุงเทพใต้ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ กรุงธนใต้ และจะเพิ่มเป็น 21 แห่งภายในปี 2565

ขณะที่ ณชเล บุญญาภิสมภาร ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย กล่าวว่า Nothing for Trans without Trans หรือ ไม่มีอะไรเป็นของคนข้ามเพศ หากคนข้ามเพศไม่ได้มีส่วนร่วม เป็นที่มาของโครงการฯ ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พัฒนานโยบายและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศ เพื่อรณรงค์เรื่องการสร้างระบบ และกลไกเชิงรุกในระดับนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยการสะท้อนปัญหา ช่องว่างการบริการ และแนวทางพัฒนาระบบบริการสุขภาพของคนข้ามเพศ จากตัวเจ้าของปัญหา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่จะ “ไม่ลืมใครไว้ข้างหลัง” ด้วยการพัฒนาบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศที่มีคุณภาพ เป็นมิตร เข้าถึงง่าย และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ณชเล เพิ่มเติมว่า สังคมยังมีภาพเรื่องเพศแค่สองกล่อง ชายและหญิง สิ่งที่น่ากลัวคือ สังคมมีความคาดหวัง ให้ทั้งชายและหญิงว่าต้องเป็นแบบไหน ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามมากระตุ้งกระติ้ง ผู้ชายร้องไห้ไม่ได้ ถูกมองว่าอ่อนแอ หากไม่เป็นไปตามความคาดหวังจะถูกลงโทษ เช่น โดนบูลลี่ ความคิดที่ว่ามีแค่ 2 เพศ ไม่เพียงแต่ทำร้ายตัวคนนั้น แต่ความคาดหวังของสังคมยังทำร้ายทั้งเพศชายและเพศหญิงด้วยเช่นกัน จึงควรเปิดรับแนวคิดใหม่ว่า เพศไปไกลกว่า 2 กล่อง มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสามารถมีความสุขได้ เป็นสิ่งที่สังคมต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน 

"พ่อแม่บางคนยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมที่มองเรื่องเพศแค่ 2 เพศ ไม่ได้หลุดไปจากวัฒนธรรมนี้ เรื่องนี้สำคัญ เด็กไม่ควรต้องเสียเวลาในการแสวงหาตนเอง และใช้เวลาในการพัฒนาตัวเอง แทนที่จะมารู้สึกว่า ต้องทำยังไงให้พ่อแม่เข้าใจหรือพิสูจน์ตัวเอง การที่พ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นจะส่งผลดีต่อลูกแน่นอน ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะโดนรังแก หางานไม่ได้ เมื่อไหร่ที่พ่อแม่รักลูกโดยไม่มีเงื่อนไข รักที่ลูกเป็น นี่คือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว และเป็นสิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุด" ณชเล กล่าวและเพิ่มเติมว่า ความเชื่อที่ต้องถูกเปลี่ยน คือ คนข้ามเพศทำศัลยกรรมหรือใช้ฮอร์โมน เพราะว่าอยากสวย อยากหล่อ เพียงเท่านั้น เหตุผลที่คนข้ามเพศต้องการเปลี่ยนร่างกายตัวเอง เพราะอยากมีร่างกายให้ตรงกับสำนึกเพศ หญิงข้ามเพศก็อยากมีร่างกายเป็นหญิง ชายข้ามเพศก็อยากมีร่างกายเป็นชาย การเปลี่ยนร่างกายจะส่งผลให้ชีวิต ความเป็นอยู่ ความรู้สึกว่าตัวเองสมบูรณ์ เมื่อคนข้ามเพศไปใช้บริการมักจะถูกระบุว่าเพื่อความสวยงาม พอคนอธิบายว่าการข้ามเพศเป็นความสวยงาม การจะผลักดันให้เกิดสวัสดิการที่คุ้มครองค่าใช้จ่ายเรื่องการข้ามเพศจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบหรือให้สิทธิ สวัสดิการเกี่ยวกับการข้ามเพศ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น สำคัญของคนข้ามเพศ เพราะส่งผลต่อสุขภาวะองค์รวมของคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นกายสมบูรณ์ ใจสมบูรณ์ มั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมได้ 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org