ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีมติเร่งขับเคลื่อนแผนเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้านการบำบัดรักษา เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายรัฐบาล พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการกฎหมายและรับเรื่องข้อร้องเรียนด้านการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และคณะทำงานในระดับจังหวัด เพื่อให้การทำงานเกิดผลโดยเร็วที่สุด

วันนี้ (20 ตุลาคม 2565) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดครั้งที่ 1/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรุงเทพมหานคร การกีฬาแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ โดยเน้นการแก้ปัญหาตามหลักสากล คือ มาตรการลดปริมาณยาเสพติด (Supply Reduction) ลดความต้องการยาเสพติด(Demand Reduction) และลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยที่ประชุมฯ ในวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบแผนเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด (ด้านการบำบัด) โดยให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเร่งจัดตั้งศูนย์คัดกรองทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทุกตำบล และร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่จัดบริการบำบัดรักษา ฟื้นฟูและติดตามผู้ป่วยยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community based treatment and rehabilitation : CTBx) ให้ครอบคลุมทุกตำบล รวมถึงประสานหน่วยงานในจังหวัดเพื่อสำรวจตรวจสอบและยื่นขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดถึงระดับตำบลด้วย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมการเพื่อรองรับการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดในพื้นที่ ได้ให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งจัดให้มีหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 50% จะเร่งรัดดำเนินการเปิดให้ครบโดยเร็ว รวมถึงให้มีการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด หรือมีหน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนให้ครบทุกแห่ง และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูและเครือข่ายในจังหวัด ในการฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดแบบระยะยาว

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำอนุบัญญัติกฎหมายลำดับรองภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด 9 ฉบับ ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับตามกฎหมายแล้ว 6 ฉบับ อีก 3 ฉบับ อยู่ระหว่างเร่งรัดเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกฎหมายและรับเรื่องข้อร้องเรียน ด้านการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และคณะทำงานในระดับจังหวัด (คณะทำงานบูรณาการ คัดกรอง บำบัด รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมและติดตามระดับจังหวัด) เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย พัฒนางานวิชาการ มาตรฐานและคุณภาพการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จัดตั้งและรับรองคุณภาพศูนย์คัดกรอง/สถานพยาบาล/สถานฟื้นฟูสมรรถภาพ/ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อให้เกิดการทำงานเกิดผลโดยเร็ว

สำหรับบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการฯ ได้กำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน ไม่ให้บุคลากรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และมีระบบคัดกรองผู้ใช้สารเสพติดและการระบบบำบัดรักษาฟื้นฟูภายในหน่วยงาน

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org