ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสุขภาพจิตรับลูก “อนุทิน” กรณีไม่ใช่ความรุนแรงแก้ปัญหา  ชี้หากสนับสนุนด้วยคำว่า “สะใจ” แค่ช่วยคลายความโกรธ แต่จะยิ่งเร้าอารมณ์คุกรุ่นจนเกิดระลอกใหม่ ไม่ใช่ทางออกยั่งยืน  แต่ห่วงสุดตอนนี้หลังโควิด ความเครียดและซึมเศร้าจะมากขึ้น ยิ่งเจอน้ำท่วมซ้ำเติม เจอความรุนแรงก้าวร้าวเพิ่มทวี ยิ่งต้องกังวล พร้อมแนะวิธีบรรเทาความเครียดด้วยตนเอง หรือปรึกษาจิตแพทย์

 

ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   สั่งการให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต เร่งทำความเข้าใจสังคมเรื่องไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา หลังมีกรณีการชกต่อยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า น้อมรับข้อสั่งการมาแล้ว ซึ่งเรายึดถืออยู่แล้วว่าความรุนแรงไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาใดๆ ซึ่งความรุนแรงไม่ได้หมายเพียงความรุนแรงทางร่างกาย ยังมีการใช้วาจา คำพูดส่อเสียดก้าวร้าว ก็เป็นตัวความรุนแรงโดยตรงและเป็นตัวยั่วยุความรุนแรงด้วย และการกระทำความรุนแรงด้านจิตใจ เช่น การละเลย ละทิ้ง กักขังหน่วงเหนี่ยวก็เป็นความรุนแรงจิตใจ ภาพรวมจึงมี 3 มิติ คือ กาย วาจา และจิตใจ

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคนสนับสนุนการใช้ความรุนแรง เพราะรู้สึกสะใจ...  พญ.อัมพร กล่าวว่า เป็นการสนับสนุนด้วยคำว่าสะใจ ซึ่งคำว่าสะใจไม่ได้แก้ปัญหา แต่ทำให้คนๆ นั้นรู้สึกว่าความโกรธได้คลายตัวลงบ้าง แต่เป็นการคลายความโกรธ แต่อาจเร้าความโกรธระลอกใหม่ กลุ่มคนใหม่ๆ หรือกลุ่มเดิมขึ้นมา ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาอารมณ์ด้านลบบางอย่างเพื่อสร้างอารมณ์ด้านลบใหม่ๆ ขึ้นมาและสร้างปัญหาอื่นๆ ขึ้นมาด้วย ถ้าเราจะแก้ปัญหา ส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ที่ความรุนแรง แต่แก้ที่สติปัญญามากกว่า

 

ถามว่ากรณีคนที่เราชอบก็บอกว่าไม่สนับสนุนความรุนแรง แต่เป็นคนที่เราไม่ชอบก็บอกว่าสมควรแล้ว สะใจ ต้องทำความเข้าใจอย่างไร..  พญ.อัมพร กล่าวว่า อาจจะเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มีอคติอยู่ คนไหนที่เรารักก็มีคะแนนบวก แต่ว่าถ้าเรามีสติก็ควรจะก้าวข้ามอคติลักษณะนั้นด้วย คงไม่ได้ทำได้ทุกคนหรือทุกสถานการณ์ แต่ถ้าทำได้สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้สติให้มาก ก็จะมีปัญญาแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ผลกระทบด้านลบจะน้อยลง เกิดผลด้านบวกมากขึ้น เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็สามารถทำได้

 

ถามต่อว่าคนใช้โซเชียลมีเดียแค่ปลายนิ้วในการแสดงการสนับสนุนหรือสะใจต่อความรุนแรง จะเบรกพฤติกรรมแบบนี้อย่างไร... .. พญ.อัมพร กล่าวว่า ต้องเบรกด้วยการไม่แชร์สิ่งที่ทำให้เกิดผลด้านลบ ในทางกลับกัน เลือกนำเสนอเพิ่มพื้นที่การสื่อสารที่เป็นบวก อาจจะไม่นย่าสนใจแต่มีผลดีมากกว่าเยอะ

 

ถามว่ามีการประเมินสภาพจิตใจคนไทยในช่วงการเมืองรุนแรงหรือไม่..  พญ.อัมพร กล่าวว่า โดยทั่วไปเราสังเกตว่า ประเด็นทางการเมืองไม่ค่อยมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนไทย อาจจะเห็นต่าง โมโห แต่ไม่ได้เป็นอารมณ์ที่ ทำให้เครียดกับการเมืองขนาดนั้น แต่สิ่งที่มีผลกับสุขภาพจิตคนไทยมักเป็นสถานการณ์ความสูญเสียหรือความเจ็บปวดที่รุนแรง อย่างกรณีคุณแตงโม หรือโควิด จะเห็นว่าความเครียดเยอะขึ้น ส่วนสถานการณ์ของหนองบัวลำภูครั้งนี้เรากำลังวิเคราะห์ข้อมูลอยู่ เพราะอยากจะเห็นข้อมูลเปรียบเทียบของทั้งประเทศกับจังหวัดและภูมิภาคด้วย แต่มีแนวโน้มว่าน่าจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกด้านความเครียด และประจวบกับมาพะร้อมกับน้ำท่วม ช่วง 2-3 สัปดาห์นี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างหนักหนาสำหรับประเทศไทย จึงต้องพยายามเพิ่มพื้นที่เรื่องดีๆ กันหน่อย มิเช่นนั้นเจอแต่เรื่องเป็นลบ เปิดข่าวเจอทะเลาะ ทำร้ายกัน สังคมก็จะมีความสุขน้อยลง

 

เมื่อถามว่าประเมินจากกระแสตอนนี้ความรุนแรงของบ้านเราเป็นอย่างไร.. พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตประเมินเรื่องความรุนแรงในเชิงสุขภาพจิตและจิตเวชเราค่อนข้างเป็นห่วง หลังสถานการณ์โควิด ความเครียดและซึมเศร้าจะมากขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเร่งเร้าความรุนแรงทั้งต่อตนเองและคนอื่น จากโควิดก็หนักหนาเอาการ และมาเจอน้ำท่วมซ้ำเติม เจอความรุนแรงก้าวร้าวมากๆ ในชุมชนอย่างนี้ แค่ใช้ความรู้สึกไม่ต้องใช้กราฟก็รู้สึกว่าหนักอยู่ เราต้องใส่ใจดูแลกันและกันมากขึ้นในทุกกลุ่มวัย วึ่งได้รับผลกระทบตรงนี้ทั้งหมด

 

ส่วนการดูแลสุขภาพจิตเราเองเมื่อเจอความเครียด ต้องรู้ให้เร็วว่าเครียดจากอะไร ง่ายที่สุดคือจัดการกับต้นเหตุความเครียดนั้น ถ้ายังจัดการไม่ได้ถอยตัวเองออกมา ดูหนังฟังเพลง เล่นกีฬาอะไรก็ได้ พอได้พักความรู้สึกชุลมุนกับความเครียด เราจะแข็งแรงขึ้น และมองปัญหาด้วยความเข้าใจมากขึ้น ถ้าแก้ได้อาจแก้ได้ดีกว่าเดิม หรือหากแก้ไม่ได้ก็อาจจะเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง หรือหาตัวช่วยอื่นเข้ามาหรือเวลาเป็นตัวคลี่คลายปัญหา ไม่มีอะไรที่เราก้าวข้ามไม่ได้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าคนทั่วไปเปิดใจเข้าหาจิตแพทย์มากขึ้นหรือยัง...  พญ.อัมพรกล่าวว่า คนเปิดใจมากขึ้น เราดีใจที่ทุกคนมองว่า เมื่อมีความทุกข์ เครียด หรือเจ็บป่วยทางจิต เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จากการเดินเยี่ยมในชุมชนที่หนองบัวลำภู เมื่อบอกว่าเป็นจิตแพทย์เขาก็อยากเข้ามาปรึกษามาเล่าให้ฟัง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง