ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและพัฒนาเป็น Medical Hub ของภูเก็ตเริ่มเห็นภาพชัดมากขึ้น หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงิน 5,116 ล้านบาทสำหรับโครงการ “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า จริงๆ ตามแผนครม.ควรอนุมัติตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเริ่มใช้งบประมาณทันต.ค.ปีนี้ แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่มีรายละเอียดมาก โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มทุน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้สำนักงานเลขาธิการครม.ต้องการข้อมูลประกอบค่อนข้างเยอะ จึงใช้เวลาพอสมควร

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีทั้งส่วนที่ใช้งบก้อนโตและเป็นกิจกรรมที่ทางม.อ.ทำอยู่แล้ว จึงได้มีการดำเนินการไปบ้างบางส่วนแล้ว และน่าจะเปิดให้บริการ 100% ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่จังหวัดอันดามัน ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล

 

>> 5 ภารกิจหลักศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน

1. โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ภูเก็ต 300 เตียง ตั้งอยู่ที่วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพในโรคที่มีความซับซ้อน ลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลระดับสูง เน้นการบริการ Tertiary Care การแพทย์แม่นยำ การแพทย์การไกล การบริการนักท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับ Premium โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการปีละ 3 แสนคนต่อปี

2. โรงพยาบาลทันตกรรมสงขลานครินทร์ ภูเก็ต ตั้งอยู่บริเวณสะพานหิน เน้นการบริการทันตกรรมครบวงจร และเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่คนไทยก็ยังได้รับการดูแลตามสิทธิความเป็นคนไทย ด้วยค่าใช้จ่ายที่เป็นคนไทย

3. โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย ตั้งอยู่ที่วิทยาเขตภูเก็ต จะยกระดับแพทย์แผนไทยเป็นแพทย์แผนโลก สร้างความน่าเชื่อถือและคุณค่าให้กับภูมิปัญญาไทย ซึ่งจะใช้งานวิจัย งานวิชาการเข้าไปช่วยสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่น

4. วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ ผลิตแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และแพทย์แผนไทย รวมทั้งฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทักษะ และฝึกอบรมผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน

5. ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์ เน้นการบริการด้านการตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจคัดกรองโรคต่างๆตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทั้งแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐานและทันสมัย

 

>> 2 โครงการดำเนินการไปแล้ว

รศ. ดร.พันธ์ กล่าวว่าศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 โดยในส่วนวิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ ได้เปิดรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลแล้ว ส่วนนักศึกษาแพทย์แผนไทยและเทคนิคการแพทย์จะเปิดรับในปีหน้า ส่วนการฝึกอบรมมีการฝึกไปแล้ว 5-6 หลักสูตร รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คนทั้งผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงาน ขณะที่ศูนย์เทคนิคการแพทย์เปิดให้บริการไปตั้งแต่ 15 มิ.ย. 2564 แต่ยังเป็นสเกลเล็กๆ เนื่องจากยังมีบุคลากรไม่มากนัก

ด้านโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย ตอนนี้เขียนแบบเสร็จแล้วกำลังจะปรับปรุงอาคาร ซึ่งใช้งบประมาณรายได้ของม.อ.ส่วนหนึ่งเข้าไปเพื่อดำเนินการก่อน น่าจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ต.ค. 2566 เช่นเดียวกับโรงพยาบาลทันตกรรม ที่มีกำหนดจะเปิดให้บริการในช่วงเวลาเดียวกัน

“เราเดินหน้าเต็มที่ไปทุกส่วนยกเว้นรพ.300 เตียงที่เพิ่งทำไปเฉพาะขั้นตอนการเขียนแบบเพราะบางอย่างรอไม่ได้ แต่เนื่องด้วยโครงการนี้มันใหญ่มาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับงบประมาณอาจทำไปแค่ 5 เปอร์เซ็นต์”

 

(รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม)

 

>> เดินหน้าเขียนแบบ รพ.300 เตียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ภูเก็ต จำนวน 300 เตียง เป็นภารกิจที่ต้องใช้เงิน 4,700 ล้านบาท มีความเกี่ยวข้องและซับซ้อนของระบบค่อนข้างมาก เฉพาะขั้นตอนการเขียนแบบก็ใช้เวลา 1 ปี เวลาในการก่อสร้างอีกอย่างน้อยอีก 4 ปี คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปี 2569 หรืออย่างช้าสุดปี 2570 หากไม่มีปัญหาเรื่องรายละเอียดต่างๆ

“ก่อนหน้านี้มีการเปิดซองประมูลผู้เขียนแบบไปแล้วครั้งแรก แต่พอเป็นโครงการขนาดใหญ่มันมีความซับซ้อนของรายละเอียด ทีโออาร์ที่ออกไปกลายเป็นขาดบางจุด มีความเข้าใจผิดในข้อกฎหมายบางอย่าง ต้องมานั่งตีความกันอีกว่าที่ทำตอนนั้นมีความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ และพบว่ามีช่องโหว่บางเรื่องเลยล้มเลิกการประมูลครั้งแรก ต้องเปิดประมูลใหม่รอบสองโดยให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วม ซึ่งระหว่างทางจากหนึ่งมาสองใช้เวลาหารืออยู่เกือบ1 ปี” รศ.ดร.พันธ์ กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงาน

ล่าสุดได้ผู้เขียนแบบและทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยความเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางและซับซ้อนมากๆ คาดว่าต้องใช้เวลาเฉพาะเขียนแบบประมาณ 1 ปี หากไม่มีอะไรผิดพลาดแบบน่าจะเสร็จสิ้นในเดือนส.ค.-ก.ย.ปีหน้า และสามารถเริ่มก่อสร้างได้เดือนต.ค.ปีหน้าสอดคล้องกับงบประมาณพอดี

 

>> สร้างความเข้มแข็งให้สังคม ชุมชน ไม่ใช่แข่งกับเอกชน

รศ. ดร.พันธ์ กล่าวด้วยว่าโครงการนี้ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของม.อ. 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีส่วนที่ขอความร่วมมือบ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เชี่ยวชาญจากกรมบัญชีกลางเพื่อมาตรวจสอบเรื่องของระเบียบ กติกาต่างๆ ซึ่งข้อสังการหนึ่งในมติครม 2 รอบ (3 พ.ย. 2563 และ 16 พ.ย. 2564) ที่เห็นชอบโครงการนี้คือให้กระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายกระทรวงศึกษา ซึ่งในที่นี้คือม.อ.ไปร่วมหารือกันว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการจะต้องไม่มีความซ้ำซ้อนในเรื่องภารกิจ และได้ลงนามความร่วมมือไว้เรียบร้อยแล้วว่าภารกิจทั้งสองไม่มีความซ้ำซ้อนกัน

“ทางมหาวิทยาลัยส่วนกลางจะเป็นผู้บริหารทั้งหมด เพียงแต่ว่าวิธีการบริหารต้องใช้วิธีการบริหารแบบพิเศษ เพื่อให้มันอยู่ได้และมีความสามารถในการแข่งขัน ต้องมีกติกาที่ทำให้เกิดความคล่องตัว ลดขั้นตอน ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหาร การตัดสินใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังเป็นหน่วยงานที่ตอบโจทย์ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการผลิตกำลังคน การศึกษาวิจัย การใช้นวัตกรรม การสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ชุมชน เราไม่มีหน้าที่ ไม่มีภารกิจที่จะไปแข่งกับเอกชน ไปหาเงิน นั่นไม่ใช่ภารกิจของเรา”

>> ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันคาดว่าจะให้บริการผู้ป่วยโรคซับซ้อนชาวไทยไม่น้อยกว่า 12,500 คน/ปี มีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 3 แสนคน/ปี และมีรายได้จากการรักษาชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท/ปี ขณะเดียวกันก็สามารถผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่สำเร็จตามหลักสูตรปีละ 110 คน อบรมทักษะต่างๆ ตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 คน/ปี รวมทั้งลดการไปรักษาโรคซับซ้อนในพื้นที่อื่นของคนในกลุ่มจังหวัดอันดามันไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้ง/ปี ประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 135 ล้านบาท/ปี

เหล่านี้ล้วนจะสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศ ซึ่งเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท/ปี ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลกที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่จังหวัดภูเก็ต

ดร.พันธ์ ยกตัวอย่างความร่วมมือกับโรงแรมเครือลา เวล่า เขาหลัก จ.พังงา เพื่อทำจุดฝึกอบรม หมายความว่า ใครก็ตามที่อยากอบรมได้รับความรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องโพสต์โควิดเท่านั้น แต่รวมถึงแพทย์แผนไทย การใช้นวัตกรรม การพัฒนาทักษะ สามารถใช้ศูนย์ของทางเครือลา เวล่าเป็นศูนย์ถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ ซึ่งมีการเปิดคลินิกด้วย

นอกจากนี้ ทีมม.อ.ยังได้เข้าไปช่วยออกแบบศูนย์สุขภาพที่เขาหลัก ซึ่งตั้งใจจะเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการการรักษาโดยภูมิปัญญาไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มาจากผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง เรียกว่าอะไรบ้าง ใช้อย่างไร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แสดงที่ไปที่มาของผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“แต่เป็นการจำลองให้เห็นสเกลเล็ก เป็นเรื่องเหตุผลการท่องเที่ยว เช่น มารับบริการแล้ว ต้นขมิ้นชันเป็นมาอย่างไร มีกระบวนการทำอย่างไร ไปดูกระบวนนั้นได้” ดร. พันธ์ กล่าว