ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จัดงานสุขภาพจิตแห่งชาติ 1-7 พ.ย.นี้ ชวนคนวัดใจ ประเมินสุขภาพจิต เน้นเด็กและวัยรุ่น เหตุพบภาวะภาวะเครียด ซึมเศร้า ล่าสุดพบอายุน้อยแค่  10 ขวบเศษก็เจอแล้ว ชี้ปัญหาCyber Bullying  ยังพบต่อเนื่อง

 

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวจัดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 วันที่ 1-7 พ.ย. 2565 โดย นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิต ส่งเสริมให้มีการประเมินสุขภาพจิตและได้รับความรู้ด้านสุขภาพจิต ซึ่งการจัดงานคิกออฟงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 "วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข" ส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต เพิ่มพูนความรู้ด้วยการเติมพลังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งผู้ที่วัดใจและเติมพลังอย่างเหมาะสม จะสามารถช่วยดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ นำไปสู่การสร้างสังคมมีสุข

พญ.อัมพรกล่าวว่า เราใช้สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งกรมฯ และภาคีเครือข่ายด้ากนการศึกษาและพัฒนาสังคม สนับสนุนให้ทุกพื้นที่เชิญชวนประชาชนวัดใจตนเองอย่างสม่ำเสมอผ่าน www.วัดใจ.com หรือ Mental Health Check In เป็นการดูแลสุขภาพจิตระดับบุคคล ตรวจสอบสัญญาณเตือนความเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้ ช่วง 6-12 เดือนก่อนหน้านี้ เครื่องมือนี้เข้าถึงประชาชนหลักแสนแล้ว ทำให้ข้อมูลมีความเที่ยงตรงแม่นยำ ใกล้เคียงการสำรวจเชิงระบาดวิทยา ข้อมูลที่สะท้อนกลับมาสอดคล้องกับทั่วโลก พบความเครียด สุ่มเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ที่เพิ่มเยอะขึ้นในภาวะที่มีโควิดและหลังโควิด นอกจากนี้ ความเครียดและซึมเศร้าพบในคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ ในสภาพที่รุนแรงมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่มักถูกมองข้าม คนจะมองวัยทำงานที่เผชิญโรคภัยไข้เจ็บ เศรษฐกิจ โดนเลย์ออฟ ตกงาน ไม่มีการประกอบอาชีพที่ดีทำให้เครียด ซึ่งความเครียดวัยทำงานส่งผลไปถึงกลุ่มที่อายุน้อยลงด้วย

 

"ผลกระทบต่อเนื่องตรงนี้เกิดขึ้นแล้ว และถูกละเลยจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ และระบบการศึกษาที่ถูกกระทบด้วย เด็กที่เคยไปโรงเรียน สามารถมีเพื่อนฝูงตามวัย มีพัฒนาการสังคมตามวัย ถูกชะงักไปหมด พื้นที่ที่หายไปจากการเรียน ถูกแทนที่ด้วยโลกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ประโยชน์ที่ได้จากดิจิทัลจะเริ่มถูกเบียดด้วยอันตรายที่มาจากการออนไลน์ การรู้จักการเข้าถึง การคลุกคลีกับสื่อที่เลวร้าย ข้อมูลที่เป็นพิษเกิดขึ้นบนความอ้างว้างของเด็กๆ จากสัมพันธภาพครอบครัวที่คลายตัวลงเนื่องจากวิกฤตต่างๆ เป็นอีกสาเหตุที่เกิดขึ้น" พญ.อัมพรกล่าว

พญ.อัมพรกล่าวว่า นอกจากนี้ กลุ่มเด็กและวัยรุ่นยังต้องการการยอมรับเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความเครียดในโลกไซเบอร์ ทำให้เกิดภาพของ Cyber Bullying ยิ่งมีความรู้สึกต้องการยอมรับ แต่กลับถูก Cyber Bullying ก็ยิ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญทำให้เครียดกดดันได้ โดยกลุ่มเด็กอายุน้อยที่พบภาวะเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย เท่าที่พบจากการที่เด็กเข้ามาประเมินออนไลน์อยู่ที่ 10 กว่าขวบ ส่วนการโทรมายัง 1323 ก็พบอายุประมาณ 10 ปีเศษๆ เช่นกัน

โดยเด็กจะบอกผู้ที่รับสายหรือโทรกลับไปติดตามจาก Mental Health Check In พบว่า เด็กจะบอกว่าไม่อยากให้พ่อแม่รู้ว่าตนเองมีความเครียด การเสริมเกราะจิตใจให้เด็กรับมือกับภาวะเหล่านี้ได้นั้น เนื่องจากเด็กกำลังเติบโต ความรอบรู้เท่าทันสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตมีข้อจำกัด เด็กจะดูแลตนเองลำพังได้ยาก เป็นหน้าที่สำคัญของครอบครัวหรือผู้ที่มาทดแทนครอบครัวต้องมีความแข็งแรง เข้าใจพัฒนาการตัวเด็ก เข้าใจตนเอง เป็นที่พึ่งของเด็กได้ ดูแลอารมณ์ตนเองเพื่อดูแลอารมณ์ของเด็กให้เป็น จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งสื่อสาร

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org