ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. มอบรองปลัดฯ “พงศ์เกษม” สอบถาม นพ.สสจ. ติดตามข้อเท็จจริงกรณีชมรมแพทย์ชนบทโพสต์สื่อสารงบวิจัย “กัญชาทางการแพทย์” ว่าเป็น “ศูนย์” ว่า จริงๆ มาจากแหล่งใด พร้อมแจงงบประมาณวิจัยกัญชามาจากแต่ละกรม ทั้ง สวรส. กรมการแพทย์ ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากสำนักงบฯแหล่งเดียว เหตุการวิจัยต้องใช้ระยะเวลาหลายปี มีการดำเนินการต่อเนื่อง ล่าสุดปี 66 ทุ่มงบรวมกว่า 80 ล้านบาท   ขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์เผยการวิจัยทำตลอด  อย่างการศึกษา  CBD  ช่วยผู้ป่วยติดยาเสพติดชนิดรุนแรง ฯลฯ

 

ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์เฟซบุ๊กกรณีไม่มีงบประมาณการวิจัยกัญชาทางการแพทย์จากสำนักงบประมาณ โดยแต่ละกรม กองถือว่าเป็น “ศูนย์” แสดงว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นเพียงวาทกรรม ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่ามีงบฯเฉพาะจากกองวิจัยของกรม ซึ่งการวิจัยต้องระยะยาวจึงต้องใช้งบดังกล่าวนั้น

(อ่านข่าว : หมอชนบทเผยงบวิจัยกัญชาของ สธ.เป็น "ศูนย์" ด้านอธิบดีกรมการแพทย์เผยข้อเท็จจริง!)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าว ว่า ขณะนี้ได้มอบหมาย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ดูแลเรื่องนี้ และสอบถามไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) นั้นๆ ว่า การสื่อสารดังกล่าวออกมาจากแหล่งใด ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร กำลังรอข้อมูลตรวจสอบเรื่องนี้

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  กระทรวงให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักฐานทางวิชาการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ยากัญชาที่เหมาะสม โดยเราเริ่มดำเนินการตั้งแต่อนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และวิจัยในปี 2562 ในตอนนั้นกรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีการทบทวนข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นระบบ และจัดทำแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ ทำให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงว่ายากัญชาว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศในเรื่องใดได้บ้าง  หลังจากนั้นโรงพยาบาลและกรมวิชาการที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างก็เร่งศึกษาวิจัย  โดยได้งบประมาณจากกองทุนที่มีหน้าที่สนับสนุนงานวิจัย เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) , สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  เนื่องจากมีความคล่องตัวในการดำเนินการวิจัยมากกว่าใช้งบประมาณปกติ ที่ต้องดำเนินการให้ทันในปีงบประมาณ

“โดยหลักการงบประมาณการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ เป็นงบวิจัยพัฒนา จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาหลายปี   การใช้งบประมาณจึงใช้จากสถาบันวิจัย หรือกองวิจัยของแต่ละกรม ไม่ใช่ว่าไม่มีงบประมาณใดๆ เลย ซึ่งที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนเรื่องการวิจัยตั้งแต่ปี 2562-2565 ทำให้เกิดผลงานวิจัยราว  60 เรื่อง  และในปี 2566 เรายังมีนโยบายศึกษาวิจัยกัญชา กัญชง ครบวงจร ภายใต้งบวิจัยมากกว่า 80 ล้านบาท ” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับงบศึกษาวิจัยกัญชากัญชงกว่า 80 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 เช่น งบจาก สกสว. 4,106,000 บาท งบประมาณกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 15,000,000 บาท งบกองทุนภูมิปัญญา 13,370,000 บาท งบจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) 2,716,000 บาท เป็นต้น โดยจะเน้นเรื่องการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาเครื่องมือและวิธีการเพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้สั่งใช้ยา ผู้ป่วย และผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยจากงานประจำ เนื่องจากมีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่การส่งเสริมการใช้อย่างแท้จริงของพื้นที่โดยในแผนบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขากัญชาปีนี้ได้เพิ่มเติมให้ทุกเขตสุขภาพมีการวิจัยหรือจัดการความรู้อย่างน้อยปีละ 2 เรื่อง นอกเหนือจากตัวชี้วัดเรื่องการเข้าถึงยากัญชาของผู้ป่วยด้วย

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  เวลาทำวิจัยในคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการขอจริยธรรม ต้องผ่านกระบวนการจำนวนมาก ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ปีเดียวจบ เพราะปีงบประมาณส่วนใหญ่จะปีเดียวจบ แต่ในกรมการแพทย์ จะมีรพ. มีเงินบำรุง มีเงินกองทุนวิจัย มีสถาบันวิจัยอยู่ในกรมการแพทย์ มีหน้าที่ดูวิจัยทั้งหมด เพราะเราเป็นกรมวิชาการ มีกองทุนวิจัยในการให้เงินทำวิจัยอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องกัญชาทางการแพทย์

“จริงๆ ในระบบมีการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์อยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้เป็นความมั่นคงทางยาด้วย เนื่องจากบริษัทยาปัจจุบันไม่ค่อยวิจัยยาจากพืชเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหน่วยงานของรัฐในการศึกษาเรื่องนี้ อย่างโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่นศึกษาเรื่อง CBD มาช่วยผู้ป่วยติดยาเสพติดชนิดรุนแรง ใช้งบกว่าล้านบาท  นอกจากนี้ ยังร่วมกับเอกชนในการวิจัยเรื่องเอา CBD ต่อสู้กับมะเร็ง ซึ่งกำลังศึกษาอยู่เช่นกัน” นพ.ธงชัย กล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org