ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข เห็นพ้องแนวทางการถ่ายโอนของกระทรวงสาธารณสุข กรณีบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานใน สอน./รพ.สต. ขอถ่ายโอนจะส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน กำชับสสจ.ปฏิบัติตามแนวทางการถ่ายโอนบุคลากรที่กระทรวงแจ้ง ไม่ใช่บุคลากรของสอน./รพ.สต. ต้องให้ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2565) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำเสนอข้อเท็จจริงกรณีการถ่ายโอนรอบปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน แสดงความประสงค์ขอถ่ายโอนไปด้วย จะทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่ต้องรับบริการในสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ รวมถึงกระทบกับประชาชนในความรับผิดชอบของ สอน./รพ.สต. ที่ต้องส่งต่อมารับการรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า รวมถึงระบบการเฝ้าระวังโรคและวิกฤตของโรคอุบัติใหม่ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขฯ ได้รับทราบและเห็นด้วยว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพในทุกระดับ ส่วนประเด็นงบประมาณของ สอน./รพ.สต. ที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณตามขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ซึ่งมีข้อกังวลว่าจะไม่เพียงพอนั้น ได้ทำความเข้าใจตรงกันแล้วว่า นอกจากเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประจำ (Fixed Cost) สอน./รพ.สต.ยังจะได้รับเงินค่าบริการผู้ป่วยนอกและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามรายหัวประชากรในความรับผิดชอบ และตามข้อตกลงของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด สอน./รพ.สต.ที่ถ่ายโอนจะได้รับงบสองส่วนดังกล่าว

นพ.พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการถ่ายโอนบุคลากรไป อบจ.ในปีงบประมาณ 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือชี้แจงแนวทางถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยย้ำว่าการถ่ายโอนบุคลากรต้องสอดคล้องกับภารกิจที่ถ่ายโอน ยึดหลัก "ภารกิจไป งบประมาณไป ตำแหน่งไป บุคลากรสมัครใจ" และเพื่อไม่ทำให้การถ่ายโอนบุคลากรเกิดผลกระทบต่อกรอบอัตรากำลังและคุณภาพการให้บริการของหน่วยบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ จึงกำหนดแนวทางการถ่ายโอนบุคลากร ดังนี้ 

1.ต้องเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานและดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ในโครงสร้างของ สอน./รพ.สต. 2.บุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานใน สอน./รพ.สต.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะต้นสังกัดต้องตรวจสอบและพิจารณา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการในภาพรวม ก่อนรายงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวินิจฉัยต่อไป และ 3.เมื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รับข้อมูลจาก อบจ. ให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ปฏิบัติงานใน สอน./รพ.สต.ให้เป็นไปตามประกาศที่กำหนด กรณีเป็นบุคลากรที่ไม่ได้ปฏิบัติงานใน สอน./รพ.สต. ให้เสนอผู้บังคับบัญชา (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป) ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของ อกพ.กระทรวงสาธารณสุข ต่อไป