ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.ภาคประชาชนจี้อนุทินลงนามประกาศหลักเกณฑ์โรคปี 66 หลังบอร์ดส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบส่งเสริมป้องกันโรคครอบคลุมทุกสิทธิ ตามที่ขอมติ ครม. พร้อมต้องการให้สาธารณะช่วยติดตามและจับตามองคือ รมว.สธ. จะมีวิจารณญาณในการลงนามอย่างไร

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 65 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความระบุถึงการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า ชวนพี่น้องคนไทย จับตา การประชุมบอร์ด สปสช. เหตุเพราะ รมต. อนุทินยังไม่ยอมลงนามในประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี2566 ซึ่งที่ผ่าน จะประกาศก่อน 1 ตุลาคม ของทุกปีเสมอ พอขึ้นปีงบประมาณใหม่ หลักเกณฑ์จ่ายงบก็ชัดเจน ทุกโรงพยาบาลรับทราบ จัดการต่อได้ถูกต้อง แต่ปีนี้ ล่วงเลยมาเดือนเศษ รมต.สธ.ยังดองไว้ไม่ยอมลงนาม ทั้งๆที่ผ่านที่ประชุมบอร์ด สปสช. แล้ว

ทราบว่า เหตุที่ยังไม่ลงนามเพราะ ทีมที่ปรึกษา รมต. เสนอว่า งบ PP หรืองบด้านส่งเสริมป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมาดูแลคนไทยทุกสิทธิ(ข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง) นั้นไม่ถูกต้อง ต้องดูแลแต่ผู้ถือบัตรทอง(UC)เท่านั้น จึงเสนอให้ไม่ลงนาม

ชมรมแพทย์ชนบทขอให้ รมต. ฟังเหตุผลผู้ปฏิบัติงานด้วย การส่งเสริมป้องกันต้องทำทุกสิทธิ ไข้เลือดออกระบาด เราจะควบคุมโรคแต่บ้านที่มีสิทธิ UC ไม่ได้นะ ดูแลแจกผ้าอ้อมผู้ป่วยติดเตียงตามนโยบายท่านจะให้แจกแต่สิทธิ UC กระนั้นหรือ

ชมรมแพทย์ชนบทหวังว่า วันจันทร์นี้ ในการประชุมบอร์ด สปสช. จะมีข้อสรุป และจะได้ลงนามประกาศในทันที เพื่อ สปสช. จะได้จัดงบ UC ที่พร้อมโอนงวดแรกสู่โรงพยาบาลต่างๆลงมาได้แล้ว

จากกรณีดังกล่าว ล่าสุดวันนี้  7 พฤศจิกายน 2565 เพจกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ โดยกรรมการหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน แถลงข่าว  "กรณีหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประจำปี 2566" จี้ อนุทินต้องลงนามประกาศงบส่งเสริมป้องกันโรค เน้นดูแลสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยว่า ในการประชุมครั้งที่ 11/2565 ของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ วาระแรกที่สำคัญ คือ การพิจารณาหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2566 ที่ยังไม่ได้เซ็นลงนาม ซึ่งต้องเซ็นอนุมัติตั้งแต่ก่อน 1 ตุลาคม แต่ประกาศฉบับนี้ออกไม่ทัน ก็เกิดผลกระทบต่อทุกคน เช่น ทำให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ เป็นต้น  

ทั้งนี้ ขอบเขตของประกาศฯ ได้บอกว่างบส่งเสริมป้องกันโรคนั้น หมายถึงคนไทย 66 ล้านคน ซึ่งตั้งแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมา ก็จัดงบประมาณเพื่อมาดูแลคนไทยทุกสิทธิอยุ่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ทุกคน กรรมการทุกชุดก็เห็นชอบมาตลอด แต่เมื่อมีข้อท้วงติงจากที่ปรึกษารัฐมนตรีอนุทินว่า ประกาศนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

ในนามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมเป็นบอร์ดก็เป็นกังวล เพราะหากไม่เซ็นอนุมัติประกาศฉบับนี้ ผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียง ที่ต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ก็ต้องตรวจสอบสิทธิก่อนว่าบัตรทองหรือไม่ ไม่ใช่บัตรทองเบิกไม่ได้ หรือการฝากครรภ์สำหรับผู้หญิงทุกคน การตรวจเอชไอวี ก็จะกลายเป็นปัญหาว่า ต่อไปนี้การส่งเสริมป้องกันโรค จะขอเลือกให้เฉพาะคนที่มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น ซึ่งเราต้องมาปรึกษาหารือกัน

“หลักการสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรค คือ ดูแลคนทุกคน ทุกโรค ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ยึดหลักการนี้เป็นสำคัญที่ต้องดูแลทุกคนทุกสิทธิ ไม่มีข้อยกเว้น” .

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณกรรมการทุกคน เพราะอย่างน้อยกรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า ต้องยืนยันเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับทุกคน เพราะเชื่อและปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ จึงมีมติให้ลงนามประกาศดังกล่าวทันที ซึ่งสิ่งที่ต้องการให้สาธารณะช่วยติดตามและจับตามองคือ รมว.สธ. จะมีวิจารณญาณในการลงนามอย่างไร เมื่อบอร์ดมีมติแล้วว่าให้ลงนามทันที

ด้านสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล หนึ่งในบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชน กล่าวว่า ในที่ประชุมเห็นบรรยากาศความกลัวที่ว่าจะทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จนลืมไปว่าประชาชนของประเทศนี้ต้องการสิทธิที่จะดูแลสุขภาพของทุกคน แม้กระทรวงกลาโหมเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน หากประธานฯ ไม่สามารถเซ็นได้ เลขาธิการ สปสช.จะเป็นผู้ลงนามตามมติแทน และอาจเป็นร่างประกาศครั้งแรกที่ เลขาฯ ลงนาม ซึ่ง รมว.สธ. คงไม่ทำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น และไม่ควรมีเหตุการณ์ใดที่จะทำให้ รมว.สธ.ไม่ลงนามอีกแล้ว

 

 

 

รูปภาพ : เพจชมรมแพทย์ชนบท