ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.-กทม. จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดระบบบริการสุขภาพคนกรุง ปีงบฯ 66 เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบ-แก้ไขปัญหาคนพื้นที่เข้าไม่ถึงบริการ มุ่งเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายสร้างความเข้มแข็ง

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระบบบริการสาธารณสุขพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 โดยเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในทิศทางการดำเนินงานให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ กทม. ในปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. จะดำเนินการตามเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองช่วง 5 ปี (2566-2570) ที่จะมุ่งให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมตามความจำเป็น ซึ่งจะสอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เช่น การเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) หรือแม้กระทั่ง บริการผู้ป่วยนอก (OPD) และบริการผู้ป่วยใน (IPD) ที่ถ้าเทียบสถิติการเข้าใช้บริการในพื้นที่อื่นๆ นอก กทม. แล้วมีความแตกต่างถึง 2 เท่า ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก

ทั้งนี้ การจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยบริการและประชาชน สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ สปสช.คำนึงถึง โดยในส่วนของ สปสช.เองจะมุ่งบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ระบบบัตรทองเกิดความยั่งยืน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิบาลระบบร่วมกัน ซึ่งถ้าเป็นในระดับประเทศจะเป็นกลไกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สำหรับ กทม. ก็จะมีกลไกคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่หรือ อปสข. ในเขตพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นปีที่เราปรับโครงสร้างใหม่ แต่ก็มีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งหน่วยบริการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน โรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบสุขภาพของ กทม. ร่วมกัน” พญ.ลลิตยา กล่าว

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ที่ปรึกษาสายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายส่วนเพื่อรองรับสิทธิต่างๆ ซึ่งในพื้นที่ กทม. แม้จะมีผู้จัดบริการจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ระบบบริการอาจยังไม่เพียงพอต่อคน กทม. โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ กทม. มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น คือราว 7-8 ล้านคน รวมถึงยังมีประชากรแฝงอีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนประชาชนในเขตปริมณฑลที่จะมาเข้ารับบริการอีกด้วย 

ฉะนั้น การบริหารกองทุนในปี 2566 จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรเพื่อความเหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน โดยอาจต้องมีหน่วยกำกับมาร่วมจัดบริการมากขึ้น เช่น เวชกรรม พยาบาล ฯลฯ รวมถึงยังมีอีกสองส่วนที่สำคัญ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในวันนี้ คือ ทิศทางนโยบายของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับ กทม. และทิศทางระบบบริการของ กทม.หลังจากนี้

“หลายๆ เรื่องเราจะได้ทราบทิศทางของกรุงเทพมหานครว่าจะไปต่อกันยังไง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยอาจจะร่วมซักถามเพื่อความชัดเจนสำหรับผู้ให้บริการ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีผู้ให้บริการที่เพียงพอ และเข้ามาร่วมสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง” นพ.การุณย์ กล่าว

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ทาง กทม. ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ จำเป็นจะต้องมีความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ในระบบของ กทม. ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อให้เกิดระบบการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ 

“วันนี้ขอเชิญชวนพวกเราร่วมกัน เป็นพลังของกรุงเทพมหานครเพื่อที่จะเป็น System Manager และ Area Manager ของพื้นที่ต่างๆ ในการเชื่อมโยงระบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ รวมถึงขยายไปยังโรงพยาบาลสาขา และสร้างความเข้มแข็งตามนโยบายของ สปสช. ด้วย”  นพ.สุขสันต์ กล่าว 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand