ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ แจงรายละเอียดประกาศ สธ.คุม “ช่อดอกกัญชา” ไม่ครอบคลุมครัวเรือน เหตุกฎหมายคุมเฉพาะสมุนไพรควบคุม พร้อมสื่อสารข้อมูลความรู้ให้รอบด้าน ขอให้สังคม ครอบครัวร่วมด้วยช่วยกัน เหมือนกรณีบุหรี่ เหล้า แต่สถานประกอบการ ผับบาร์ ห้ามสูบจุดขาย ฝ่าฝืนปิดทันที พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย  ลั่น! จากนี้จะมีการหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องวางแผนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ระหว่างรอร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงฯ บังคับใช้ ด้านกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิต ยืนยันมีระบบติดตามผลกระทบทั้งหมด

 

จากกรณีนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการเสวนาร่างกฎหมายกัญชา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  ว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่มีการสื่อสารเรื่องกัญชาอย่างรอบด้าน พูดแต่ประโยชน์ ขณะที่อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บอกว่า การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการควบคุมช่อดอก ไม่ครอบคลุม แทนที่ต้องควบคุมทุกส่วน  และมองว่า ระหว่างไม่มีร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะก่อปัญหาอย่างแน่นอนนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอบัญญัติ”  ซัดกระทรวงสาธารณสุขยุคตกต่ำ! พูดแต่ประโยชน์กัญชา ไร้สื่อสารบำบัดรักษา ไม่เป็นธรรมต่อวิชาการ

 

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับใหม่ล่าสุด เรื่อง “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565” ว่า  กระทรวงสาธารณสุขเน้นกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ได้มีการออกกฎหมาย ออกประกาศมาควบคุมต่างๆ เหมือนเหล้าบุหรี่ ที่ต้องมีกฎหมายควบคุม กัญชาก็เช่นกัน แต่เหล้าบุหรี่ยังหาประโยชน์ค่อนข้างยากกว่ากัญชาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และทางเศรษฐกิจ การผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ทั้งนี้ กัญชามีสาร THC ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทจึงต้องมีการควบคุมกำกับ และออกประกาศต่างๆออกมาระหว่างร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ...ยังไม่ออกมา ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงนำกฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้ควบคุม ร่วมกับการให้ข้อมูลความรู้ข้อเท็จจริงการใช้ที่เหมาะสมต่างๆ เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง เด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น 

ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจในตัวบทกฎหมายการกำกับดูแลต่างๆ ณ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศ กฎหมายควบคุม รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรก็มีการกำกับนำเข้าส่งออกเช่นกัน ประกอบด้วย

1.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  มีพ.ร.บ.อาหาร ในการควบคุมดูแลไม่ให้เอาช่อดอกมาประกอบอาหาร หากร้านค้า ผู้ประกอบการเอาช่อดอกใส่ในอาหารถือว่ามีความผิด มีโทษทางอาญา

2.กรมอนามัย มีพ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ  ในการออกประกาศข้อกำหนดกลิ่นควันกัญชากัญชงเป็นเหตุรำคาญ ถ้าสูบที่สาธาาณะ จนเกิดกลิ่น หรือควัน และเกิดผลกระทบต่อผู้คนสามารถร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการได้

นอกจากนี้ ยังมีประกาศควบคุมสถานประกอบการ ร้านอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม หากใช้กัญชาผสมในอาหารในร้านของท่าน ต้องมีการแจ้ง ซึ่งกรมอนามัยจะมีหลักสูตร มีข้อแนะนำว่า ต้องผสมอย่างไร ใส่ใบได้กี่ใบ ที่สำคัญต้องแจ้งว่าไม่แนะนำใช้ในเด็ก หญั้งครรภ์ หากไม่ทำก็จะมีความผิด นอกจากจะมีพ.ร.บ. หรือกฎหมายอื่นๆมาประกอบด้วย    อย่างหากใช้ช่อดอกผสมอาหารก็ผิดพ.ร.บ.อาหาร หรือหากเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยก็จะสามารถใช้กฎหมายผู้บริโภคได้ด้วย ยังมีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ในการห้ามใช้ในสถานศึกษาด้วย

 3.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ออกมาประกาศควบคุมนั้น สืบเนื่องจากก่อนหน้าที่มีการออกประกาศเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 ซึ่งเป็นประกาศสมุนไพรควบคุม คุมทั้งต้น แต่ด้วย ณ ปัจจุบัน มีเรื่องของการใช้ การดำเนินการต่างๆ เหตุผลหลายอย่าง จึงต้องมีการปรับปรุงประกาศใหม่ให้เฉพาะ “ช่อดอก” ส่วนที่เหลือ หรือส่วนอื่นๆของกัญชายังควบคุม แต่ใช้กฎหมายอื่นมาคุม

“หลายท่านถามว่า สมุนไพร สามารถควบคุมเฉพาะส่วนได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงทำได้ในมาตรา  45  ระบุว่า รัฐมนตรีฯมีอำนาจในการกำหนดเฉพาะส่วนของสมุนไพรได้ตามคำแนะนำ ซึ่งข้อมูลทางวิชาการพบว่า สาร THC สูงมากในช่อดอก จึงเป็นเหตุให้ต้องควบคุม เพราะใบแม้มี THC แต่น้อยกว่ามาก และคนจะใช้ช่อดอกสูบมากกว่า ดังนั้น กรมฯ จะยกเลิกประกาศฯฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 2565 และจะใช้ประกาศฉบับนี้แทน ซึ่งจะมีผลหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า สรุปแล้วประกาศฉบับปรับปรุงสามารถควบคุมไปถึงการใช้ในครัวเรือนได้หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า  สิ่งที่เราทำได้ อย่างประกาศของกรมการแพทย์แผนไทยฯ บังคับได้เฉพาะผู้มาขออนุญาต แต่หากไม่ใช่ก็บังคับไม่ได้ แต่เราจะไปดูประเด็นอื่นๆ เช่น การให้ความรู้ อย่างการเอาช่อดอกไปมวนสูบที่บ้านก็ต้องมีการให้ข้อมูล อย่างบุหรี่ ก็ไม่ใช่ว่าเด็กในบ้านจะเอามาสูบในบ้านง่ายๆ ทั้งที่บุหรี่เป็นสำเร็จรูปสูบได้เลย แต่ช่อดอกกัญชา ยังมีขั้นตอนในการนำมาสูบ ซึ่งเรื่องนี้พ่อแม่ ครอบครัวสังคมต้องช่วยกันดูแล แต่หากไปสูบในที่สาธารณะ ก็จะสามารถใช้พ.ร.บ.การสาธารณสุข เรื่องกลิ่น ควัน มาดำเนินการได้ ส่วนการจะเอาผิดโดยตรงยังต้องอาศัยการมี พ.ร.บ.เข้ามาจึงจะสมบูรณ์

   “ในส่วนของการดูแลการใช้ในครัวเรือนนั้น แม้ประกาศนี้จะไม่สามารถครอบคลุมไปถึงประชาชนที่ไม่ได้ขออนุญาต แต่เรายังมีส่วนอื่นๆมาดูแลได้ โดยเฉพาะการสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริง ประโยชน์ทางการแพทย์  เฝ้าระวังโทษ โดยต้องสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ที่น่ากังวลคือ ร้านค้าผู้ประกอบการที่มีการจำหน่าย และมีการสูบด้วย ตรงนี้สามารถเอาผิดได้ ต้องปิดทันที เพราะเราไม่ได้สนับสนุนให้สูบหรือสันทนาการ และห้ามโฆษณาด้วย อย่างจำหน่ายบอกได้เพียงราคา แต่ห้ามเชิญชวนลด แลก แจก แถม และเรายังมีข้อกำหนดห้ามจำหน่ายในสถานที่ที่กำหนด เช่น วัด สวนสาธารณะ เป็นต้น หากไม่ปฏิบัติก็จะมีการยึดใบอนุญาต หากยังทำก็ดำเนินการตามกฎหมาย เป็นกระบวนการที่จะมีการดำเนินการต่อไป” นพ.ธงชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีผับบาร์หากมีจำหน่ายขัดกับประกาศฉบับนี้ และมีการสูบด้วยจะทำอย่างไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า ก็ต้องปิด เพราะเราไม่สนับสนุนสันทนาการ  อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้เราวิเคราะห์แล้วกรณีผู้ประกอบการจะกระทบหรือไม่ จริงๆ ไม่ได้กระทบมาก อย่างเรื่องการให้สูบได้ในสถานประกอบการก็ไม่ให้  อย่างไรก็ตาม จากนี้จะมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป ตรงนี้ต้องช่วยกันเพื่อรอระหว่างกฎหมายโดยตรงยังไม่ออกมา

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ประกาศนี้จะควบคุมผู้ที่มาขออนุญาต ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ต่างๆ สำหรับคนมาขออนุญาตที่ต้องมีสถานประกอบการแน่นอน มีแหล่งที่มาของกัญชา และการนำไปใช้ชัดเจน   สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียนหรือขออนุญาตกับทางกรมฯ  เรากำลังวางแผนทำเป็นข้อมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตจะทำให้ทราบว่า มีการจำหน่ายเท่าไหร่ มีใครมาขึ้นทะเบียน มีการส่งออกเท่าไหร่ จะทำให้ทราบข้อมูลภาพรวมทั้งหมด  โดยระบบนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หรือต้น ม.ค.2566  อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เคยขอใบอนุญาตมาก่อนหน้านี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศฉบับปรับปรุงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการที่ขออนุญาตก่อนหน้านี้  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ได้ใบอนุญาตแล้ว 3,097 ราย

  

ด้าน นายระพีพัทธ์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมฯ เน้นย้ำเรื่องแหล่งที่มา ต้นน้ำ การปลูกกัญชาต้องปลูกในประเทศ  โดยเฉพาะสมุนไพรควบคุม ซึ่งการปลูกต้องมีการขออนุญาตเพื่อให้มีการตรวจสอบรับรอง GAP การเกษตรที่ดี ตรวจสอบย้อนกลับ  จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ผู้มีโรงเรือนปลูกกัญชาขอให้มาขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร  ส่วนเรื่องสายพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์กัญชา ก็ขอให้มาขึ้นทะเบียนเช่นกัน ส่วนการขออนุญาตส่งออก สามารถทำได้ แต่ประเทศต้นทางต้องมีกฎหมายอนุญาตด้วย และทางกรมฯก็จะดูแลสุขอนามัยพืช ป้องกัน แมลงศัตรูพืช เป็นต้น

 

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ตั้งแต่สธ.ออกประกาศสมุนไพรควบคุม เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.จนถึง 11 พ.ย. มีผู้มายื่นขออนุญาตแล้ว  5,575 ราย  ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ออกใบอนุญาตแล้ว 3,097 ราย มาขอที่กรม 1,905 ราย  และออกให้ 1,644 ราย ออกเยอะมาก ทำให้มีรายได้เข้าคลัง การดำเนินการขออนุญาต ทางปลัด สธ.ได้มอบอำนาจให้สสจ.อนุญาตในส่วนของจังหวัดตนเอง และมอบอำนาจให้อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ อนุญาตในส่วนกทม.และทั่วประเทศเช่นกัน  ซึ่งการขออนุญาตมี 2 ช่องทางข้างต้น และผู้มาขออนุญาตเป็นได้ทั้งบุคคล และนิติบุคคล  โดยใบอนุญาตราคา 3,000 บาทเป็นเวลา 3 ปี  เราใช้เวลาพิจารณาเร็วสุด 10 วัน ที่ช้าอาจเพราะมีปัญหาเรื่องสถานที่ เป็นต้น  ส่วนการส่งออกใบอนุญาตจะมีค่าธรรมเนียม 20,000 บาทต่อ 3 ปี มีแบบฟอร์มชัดเจนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน และประสานให้ทางคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ หรือ INCB  (The International Narcotics Control Board)

เมื่อถามว่า ประกาศกรมการแพทย์แผนไทยฯฉบับล่าสุดควบคุมกัญชงหรือไม่ นพ.เทวัญ กล่าวว่า ควบคุมทั้งหมดในประกาศนี้  

เมื่อถามว่ามีการกำหนดปริมาณการซื้อช่อดอกหรือไม่ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ตอบตรงเลยคือไม่มี แต่จากข้อมูลราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นส่วนใหญ่การซื้อจึงทำได้ทีละน้อย ไม่เยอะ หลังจากนี้หลังทำระบบเรียบร้อยจะทราบแหล่งปลูกจากที่ไหน ขายให้ใคร ปริมาณเท่าไหร่

***ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ส.ส.พรรค ปชป. ถามว่าสธ.มีการติดตามการใช้กัญชาที่ส่งผลต่อจิตประสาทหรือไม่...

เรื่องนี้  นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศจะมีระบบติดตามผลกระทบ หลังกัญชาพ้นจากยาเสพติด ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565  โดยแนวโน้ม 1 สัปดาห์ช่วงเดือน มิ.ย. ไม่ได้สูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใช้แล้วมีอาการผิดปกติ มาที่ห้องฉุกเฉิน เท่าที่พบยังไม่มีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่มึนหัว แพ้ บางคนกลับบ้านได้เลย บางคนอย่างมากนอนพัก 1 วัน ยังไม่มีเสียชีวิต หรืออาการหนักจากการใช้กัญชา สรุปคือ เรามีระบบติดตามผลกระทบอยู่  

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้รับนโยบายในการติดตามผลจากการใช้กัญชามาตลอด ซึ่งชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนการใช้ในเด็ก และเยาวชน ยกเว้น มีข้อบงใช้ ซึ่ง กรมฯ มีการเฝ้าระวัง ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ที่ผ่านมาไม่พบความเคลื่อนไหวที่น่าตกใจแต่ประการใด

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org