ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ แจง การโอนย้ายบุคลากรไปยังอบจ. ครอบคลุมเฉพาะผู้ปฏิบัติงานระดับปฐมภูมิ คือ รพ.สต. ไม่รวมบุคลากรของโรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็นระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ซึ่งหากให้ถ่ายโอนด้วยจะทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรถึงขั้นปิดแผนก เพราะมีทั้งพยาบาล ICU ห้องคลอด ห้องผ่าตัด ฯลฯ ส่งผลกระทบการบริการประชาชนอย่างหนัก

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงกรณีกลุ่มพยาบาลวิชาชีพจำนวนหนึ่งของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ในจังหวัดศรีสะเกษ ยื่นเรื่องต่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ประสงค์ขอโอนย้ายไปที่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ว่า ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับหลักการของการกระจายอำนาจ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้บริการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งท้องถิ่นที่จะเป็นผู้รับภารกิจต่อจากกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนกลางที่ต้องกำกับดูแล และประชาชน ก็ต้องได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต.เป็นไปอย่างถูกต้อง ประชาชนยังได้รับการบริการที่มีความต่อเนื่อง ทั้งการบริการเบื้องต้น คือระดับปฐมภูมิ ไปจนระดับสูงกว่าและเชี่ยวชาญ หรือที่เรียกว่า ทุติยภูมิและตติยภูมิ ซึ่งที่ผ่านมา การเชื่อมโยงการทำงานที่เข้มแข็งและมีเอกภาพ ในทุกระดับ ทำให้รับมือกับสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ได้อย่างดี สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการรับมือการระบาดของโรคโควิด 19 จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ

นพ.ทนง กล่าวต่อว่า การถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้เป็นการถ่ายโอนภารกิจปฐมภูมิ ดังนั้น บุคลากรที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอนได้ จึงต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิ คือ บุคลากรของสอน./รพ.สต.เท่านั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา จ.ศรีสะเกษได้มีการลงนามถ่ายโอน รพ.สต. จำนวน 117 แห่ง ไปสังกัด อบจ. เรียบร้อยแล้ว โดยมีบุคลากรสาธารณสุขถ่ายโอนไปทั้งสิ้น 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน ส่วนการที่บุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเป็นบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ ขอถ่ายโอนไปนั้น ไม่สามารถทำได้เพราะนอกจากจะไม่เป็นไปตามหลักการถ่ายโอนภารกิจแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ หากตัดโอนตำแหน่งของบุคลากรเหล่านี้ไป จะส่งผลให้ทุกโรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก จนอาจถึงขั้นต้องปิดแผนก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน

ทั้งนี้ อบจ.ศรีสะเกษ ได้แจ้งรายชื่อผู้ประสงค์ถ่ายโอน/ช่วยราชการ รวมทั้งสิ้น 166 คน ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพ 112 คน แต่ปฏิบัติงานที่ รพ.สต.เพียง 7 คน อีก 105 คน เป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานในแผนกต่างๆ ของโรงพยาบาล ทั้ง ICU ห้องคลอด ศัลยกรรม ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน 67 คน โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ 24 คน ที่เหลือเป็นพยาบาลของโรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี พิษณุโลก นครราชสีมา 8 คน พยาบาลของโรงพยาบาลสังกัด กทม. 2 คน พยาบาลของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1 คน และพยาบาลของสถาบันประสาทวิทยาอีก 3 คน