ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สภาการพยาบาล เสนอกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนปรับค่าตอบแทน “พยาบาล” ทั้งค่าเวรบ่ายดึก-ค่าโอที-เงินเดือน หลังไม่ได้ปรับเพิ่มกว่า 10 ปี อย่างค่าเวรบ่ายดึก 240 บาทน้อยมาก ขณะที่ทำงานหนักหน่วง กระทบร่างกายและจิตใจ เกิดภาวะหมดไฟ  ส่งผลไหลออกจากระบบ ทั้งลาออกเพราะไม่ก้าวหน้าในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป และพยาบาลอายุน้อยเทไปทำงานภาคเอกชน พร้อม รอ สธ.ประชุมหาทางออกร่วมกัน  หลัง ปลัดสธ. รับปากสร้างกลไกติดตามผลการทำงาน

 

ภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นปัญหาสะสมมานาน อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์   ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน(สพง.) และตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect เข้าร่วมหารือแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 

ทั้งนี้ ผลประชุมเบื้องต้นมีแผนดำเนินการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นเกี่ยวกับภาระงานแพทย์ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ลงไปพิจารณาหากทางแก้ปัญหาการกระจุกตัวของแพทย์ และกระจายบุคลากรให้เหมาะสม    ส่วนระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565  มีการเก็บข้อมูลกำลังคน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ และเสนอนโยบายแก้ปัญหาต่อไป ที่สำคัญในที่ประชุมยังหารือถึงค่าตอบแทนของพยาบาลที่ได้รับเพียง 240 บาทต่อเวรตั้งแต่ปี 2552  ซึ่งทาง สธ.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มในอนาคต

(อ่านข่าวเพิ่มเติม : สธ.แก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล”)

อย่างไรก็ตาม ค่าตอบแทนของพยาบาล มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมานานว่า เป็นค่าตอบแทนอันน้อยนิด และไม่มีการปรับเพิ่มเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่ภาระงานกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลจากสภาการพยาบาลพบว่า ปัจจุบันพยาบาลที่ปฏิบัติงานทั่วประเทศมีประมาณ  170,000 คน อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กว่า  120,000 คน เฉพาะในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)  110,000 กว่าคน  โดยปัญหาที่พบมากคือ จำนวนพยาบาลกว่าแสนคนที่อยู่ในระบบกระทรวงสาธารณสุข มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน หลายคนทำงานอย่างหนัก ควงเวรต่อเนื่อง ขณะที่ค่าตอบแทนกลับไม่เพิ่ม

ล่าสุด ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงการขับเคลื่อนค่าตอบแทน ขวัญกำลังใจแก่พยาบาลวิชาชีพที่ทำงานในระบบสาธารณสุข ว่า  หลังจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.ท่านใหม่รับตำแหน่ง ได้เชิญวิชาชีพต่างๆ เข้าประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค 65 เพื่อหารือการทำงานร่วมกันในการพัฒนางานด้านสาธารณสุข  ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากร ทั้งเรื่องการปรับยกระดับค่าตอบแทน และความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร เป็นหนึ่งในนโยบายของปลัดกระทรวงฯ ซึ่งทางสภาการพยาบาลเห็นด้วยและสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะคน เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการขับเคลื่อนงานและองค์กร และเนื่องจากบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ  ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากการทำงานก็มักจะเป็นพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ 

จากการเข้าร่วมประชุมกับท่านปลัด สธ. ทางสภาการพยาบาลจึงได้เสนอแนะว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน นอกจากความปลอดภัยในการทำงาน สิ่งสำคัญ คือ

1. ความสะดวกสบายในการทำงานมีอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้เพียงพอ และยังต้องมีการบริหารอัตรากำลังที่เหมาะสมด้วย ไม่ใช่ให้ทำงานหนักเกินกำลังซึ่งจะไม่ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและบุคลากร

2. ค่าตอบแทนบุคลากรวิชาชีพ โดยเฉพาะพยาบาล เป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้ได้รับอย่างเป็นธรรม เหมาะสมกับคุณค่าของงานที่ทำ เช่น ค่าเวร ค่าโอทีต่างๆ  ยกตัวอย่าง

- ค่าเวรบ่าย-ดึก สำหรับพยาบาล เนื่องจาก รพ.เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงต่อวัน  ให้บริการ 365 วันต่อปีไม่มีวันหยุด และพยาบาลเป็นวิชาชีพเดียวที่ถูกกำหนดให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จึงต้องมีการจัดเวรทำงาน เป็น เช้า บ่าย ดึก การจ่ายค่าเวรบ่าย-ดึก ก็เพื่อตอบแทนการทำงานในยามวิกาล ซึ่งผิดปกติวิสัยของมนุษย์ที่ต้องพักผ่อน มีความเสี่ยง เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ ทุกคนก็ต้องการดำเนินชีวิตปกติ  ดังนั้น อัตราค่าตอบแทนเวรบ่ายดึก 240 บาทต่อเวร ที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วไม่เคยปรับขึ้น อย่างน้อยควรปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ

ค่าตอบแทนโอที (OT) เนื่องจากการมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ โรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องเพิ่มอัตรากำลังด้วยการให้บุคลากรทำงานล่วงเวลา  ทั้งนี้ หากเป็นไปตามกฎหมายแรงงานที่ใช้กับภาคเอกชน ค่าโอทีจะต้องผันแปรตามอัตราค่าตอบแทนรายชั่วโมงของแต่ละคน เช่น เงินเดือนหารออกมาแล้วจะเท่ากับกี่บาทต่อชั่วโมง หากทำงานล่วงเวลาภาคเอกชนค่าโอทีก็จะเพิ่มเป็น 1.5 เท่า หรือ 2 เท่าของอัตราบาทต่อชั่วโมง ของแต่ละคน  แต่กฎหมายแรงงานไม่ได้ครอบคลุมบุคลากรที่อยู่ในภาครัฐ

ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงให้ค่าตอบแทนโอทีเป็น  Fixed Rate  เช่น แพทย์ได้โอที 1,100 ต่อ 8 ชั่วโมง ส่วนพยาบาลและบุคลากรที่จบระดับปริญญาตรีคำนวณจากเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเงินเดือนเมื่อ 10 ปีที่แล้วประมาณ 12,000 บาท เมื่อคำนวณจากฐานนี้แล้วก็จะได้ 600 บาทต่อ 8 ชั่วโมง ซึ่งอัตรานี้ก็จ่ายมา 10 กว่าปีแล้วเช่นกัน ก็ควรปรับเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นก็อาจขาดแคลนอัตรากำลังมากขึ้น หากบุคลากรไม่ทำงานล่วงเวลาให้กับโรงพยาบาล

“วันนี้เงินเดือนบุคลากรปริญญาตรีเริ่มต้น 15,000 บาท รวมบวกค่าวิชาชีพ ค่างาน ค่าประสบการณ์ก็ประมาณ 16,000 บาท  ซึ่งหากคำนวณทำนองเดียวกัน ค่าตอบแทนต่อวันของบุคลากรก็ประมาณ 800 บาทต่อวัน เป็นไปได้ยังไงเวรก่อนหน้าทำงานปกติจากเงินเดือนได้ 800 บาท พอทำโอทีในเวรถัดมาค่าตอบแทนคนๆเดียวกันงานเดียวกันลดเหลือ 600 บาท ทำให้คนยิ่งทำงานในจำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น รายได้ต่อชั่วโมงยิ่งลดลง เพราะเงินเดือนพื้นฐานเขาสูงกว่าอัตราโอทีที่กำหนดไว้เมื่อ 10 ปีก่อนนั้นไปแล้ว” ดร.กฤษดา กล่าว

อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง  กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ ได้กำหนดว่าคณะกรรมการค่าตอบแทนระดับจังหวัดสามารถปรับเพิ่มค่าตอบแทนโอทีได้ถึง 2 เท่า จากอัตราขั้นต่ำที่กระทรวงฯกำหนด ซึ่งก็เหมาะสม เรื่องนี้เห็นด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่กระทรวงฯต้องปรับเพิ่มอัตราพื้นฐานให้เป็นธรรมกับคนทำงานก่อน ไม่ใช่อัตรา 600 บาทต่อเวร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงานโรงพยาบาลเอกชนที่ขยายตัวมากขึ้น ในพื้นที่อัตรานี้ย่อมไม่ดึงดูดให้คนทำงานแน่นอน 

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มกรณีค่าเวรบ่ายดึกต้องเพิ่มจากปัจจุบันได้รับ 240 บาทต่อเวรเป็นเท่าไหร่ ดร.กฤษดา กล่าวว่า  ต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน แต่อย่างน้อยหลักง่ายๆ ต้องปรับตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น 240 บาทเมื่อ10 ปีที่แล้ว ซื้อของได้ชิ้นหนึ่ง แต่วันนี้ซื้อของนั้นไม่ได้แล้ว ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ก็ต้องปรับเพิ่ม

** เมื่อถามถึงการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวใช้งบประมาณเงินบำรุง แสดงว่าหลาย รพ.อาจมีภาวะเงินบำรุงไม่พอจ่ายหรือไม่ ดร.กฤษดา กล่าวว่า  เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงพยาบาล ตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าภาระงานเพิ่มอัตรากำลังไม่พอ ก็ต้องให้คนทำงานล่วงเวลา  เงินบำรุงไม่พอจ่ายให้กับบุคลากรที่ทำงานล่วงเวลาให้กับโรงพยาบาล จากการที่โรงพยาบาลให้บริการเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ถ้าใช้คนก็ต้องจ่ายให้เป็นธรรม เงินบำรุงไม่พอก็ต้องหาสาเหตุ และแก้ไข

ส่วนขั้นตอนการขับเคลื่อนแนวทางการปรับค่าตอบแทนพยาบาลจะเดินหน้าอย่างไรต่อนั้น   ดร.กฤษดา กล่าวว่า  ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเชิญประชุมเรื่องนี้เมื่อไหร่ แต่ท่านปลัดสธ.รับปากในการประชุมครั้งแรกนั้นว่า จะสร้างกลไกที่จะประชุมกับสภาวิชาชีพเพื่อติดตามผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง 

** ต่อคำถามกรณีปัญหาการลาออกของพยาบาล ส่วนหนึ่งมาจากภาวะหมดไฟในการทำงาน มีปัญหาเครียด ปัญหาสุขภาพจิตใช่หรือไม่..   ดร.กฤษดา กล่าวว่า  กองการพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีการสำรวจภาวะหมดไฟของพยาบาล ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องนี้ พยาบาลในสำนักงานปลัดฯ เกือบครึ่งหนึ่งมีภาวะหมดไฟ ขณะนี้สภาการพยาบาลกำลังทำโครงการเพื่อขอทุน สสส.สนับสนุนในการบำบัดเยียวยาส่งเสริมสุขภาพจิตของคนทำงาน อย่างไรก็ตาม การทำงานหนักต่อเนื่องยาวนานของพยาบาล ในช่วงการระบาดของโควิด-19  อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหมดไฟ และ การที่เราพบข่าวปัญหาการสื่อสารกับคนไข้ ส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่พอ หรือความเครียดสะสม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน  

“จริงๆ ที่ผ่านมา ปัญหาการสูญเสียพยาบาลตอนนี้ พบมากในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ลาออกจากราชการ ส่วนหนึ่งเพราะช่วงอายุดังกล่าวพวกเขาจะได้รับเงินบำนาญ  แต่สาเหตุสำคัญของการออกของเขาไม่ใช่เพราะได้รับบำนาญ แต่เพราะไม่ก้าวหน้าในวิชาชีพ  ส่วนพยาบาลรุ่นเด็กๆ จากที่ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมพยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) พบว่ามีการลาออกเช่นกัน แต่สาเหตุเป็นเพราะ รพ.เอกชน ขยายตัวมากขึ้น จึงออกไปอยู่เอกชน เพราะทำงานหนักน้อยกว่า ค่าตอบแทนดีกว่า” ดร.กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย

….ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างที่สภาการพยาบาล กำลังขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาภาระงานแก่พยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข...

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ. ร่วม 64 ชมรม สมาคม วิชาชีพต่างๆ แถลงการณ์ 7 ข้อ แก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org