ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะทำงานฯ ชงสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาท ครอบคลุมเด็กทุกคนบนผืนเด็กไทย 10 พรรคการเมืองโชว์กึ๋นประกาศเจตนารมณ์ผลักดันสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า 'ทีดีอาร์ไอ' ชี้ 10 ปีที่ผ่านมาคนจนไม่ลดลง ยันต้องให้สวัสดิการเด็กแบบถ้วนหน้า ระบุช่วยแบบวัดความจนทำเด็กตกหล่น 30-40%  ส่วนมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ เผยพ่อแม่วัยใส12-13 ปีพุ่งหลังโควิดแนะรัฐเพิ่มสถานเลี้ยงเด็ก 

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน จัดงานแถลงนโยบาย “ฟังพรรคการเมือง!!!หยุดวิกฤตเด็ก…ด้วยสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”  โดยนางสุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวว่า ข้อเสนอของเราจะไปไกลในสิ่งที่เด็กเล็กควรได้รับ วัย 0-6 ปีเป็นวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิต ถ้าทำดีดูแลดีนี่คืออนาคตของชาติ การลงทุนกับเด็กเล็กไม่มีการลงทุนไหนคุ้มค่าเท่านี้อีกแล้วและไม่มีโอกาสย้อนกลับ เพราะโตมาแล้วเราไม่สามารถไปเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปได้ สถานการณ์ประเทศไทยผู้สูงอายุได้เงินถ้วนหน้า เราเรียนฟรีถึง 12 ปี  มีบัตรสวัสดิการทั้งหลาย แต่ประเทศไทยไม่ให้สวัสดิการถ้วนหน้าเด็กเล็ก 0-6 ปี เป็นโจทย์ที่เราต้องแก้ไขและขับเคลื่อนกันอยู่ วันนี้เราไม่ควรต้องเรียกร้องอีกแต่เรารอความหวังกับพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่

“ข้อเสนอใหม่ของเราที่ได้เดินสายพบพรรคการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คือ 1.ขอสวัสดิการถ้วนหน้า ให้เด็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้รับการปกป้อง คุ้มครองและพัฒนา  2.ตั้งแต่ในครรภ์มารดา – 6 ปี เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในท้องเมื่อเริ่มฝากครรภ์ให้เริ่มดูแลทันที และ 3. เดิม 600 บาทคุณไม่ให้  จึงขอเปลี่ยนใหม่เป็น 3,000 บาทต่อเดือน  ส่วนทำไมต้อง 3,000 บาท ซึ่งมาจากการสอบถามพ่อแม่ ผู้ปกครองถึงค่าใช้จ่ายเป็นขั้นต่ำ ทั้งนี้เด็กเกิดน้อยลงทุกปี ต้องดูแลให้ดีที่สุด และสังคมไทยมีครอบครัวรายได้น้อยสัดส่วนสูงมาก รวมทั้งมีแม่อายุน้อยและแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการจัดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ทั่วถึงและให้เด็กทุกคนในผืนแผ่นดินไทยมีโอกาสได้เข้าเรียนด้วย”นางสุนีกล่าว

ต่อมาเป็นการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความพร้อมแนวทางจากพื้นที่ โดยนายสุมิตร วอพะพอ ตัวแทนภาคเหนือ กล่าวว่า สถานการณ์ในภาคเหนือเป็นความหลากหลายของวิถีชีวิตความเป็นอยู่คนไทยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งความแตกต่างในลักษณะภูมิประเทศ ทำให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า ถ้าไม่มีสัญชาติก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้ ถ้าได้รับอย่างถ้วนหน้าจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กในเรื่องสวัสดิการและความเท่าเทียม รวมทั้งไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อเด็กตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย ภาคเหนือเคาะตัวเลขจาก 600 บาท มาเป็น 3,000 บาท เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตเด็กให้ดีขึ้น ส่วนข้อเสนอในส่วนเด็กไร้สัญชาติ จากงานวิจัยยูนิเซฟอัตราการเกิดของเด็กไร้สัญชาติน้อยลง และในอนาคตก็จะเป็นคนไทยอยู่แล้ว ถ้าได้รับสวัสดิการที่ดีก็จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป

น.ส.มีนา ดวงราศี ตัวแทนภาคอีสาน กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุด เห็นภาพความยากจนอันดับแรก และเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แต่อยู่กับตายาย ส่งผลกระทบต่อเด็กในเรื่องพัฒนาการโดยเฉพาะในด้านภาษา เราต้องเสนอสวัสดิการถ้วนหน้า 3,000 บาทเพราะจากการลงพื้นที่พบกว่าต้องใช้เงิน 9,000 บาทต่อเดือนในการดูแลเลี้ยงดูเด็ก  แต่เราไม่ได้ขอขนาดนั้น ความขัดสนไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงที่ส่งผลต่อการสร้างทุนมนุษย์ แต่เงินเป็นปัจจัยสำคัญในการให้เด็กได้เข้าถึงการพัฒนาด้านต่างๆ สถานการณ์ปัญหาที่ยังไม่ได้รับถ้วนหน้า ทำให้เด็กอีก 2 ล้านคนยังมีปัญหาเรื้อรังต่อไป ทั้งนี้สวัสดิการต้องเข้าถึงง่ายตรวจสอบได้ ทั้งนี้ต้องมีการพัฒนากองทุนการอ่านสำเร็จเด็กประถมวัย เพื่อลดวิกฤตการอ่านของเด็กให้พัฒนามั่งคงต่อไป รวมทั้งสนับสนุนสถานเลี้ยงเด็กให้มีความเหมาะสมต่อไป เริ่มตั้งแต่  6 เดือน เป็นต้น

นายชุมพล แสงวัน ตัวแทนคณะทำงานภาคกลาง/ตะวันตก ตะวันออก กล่าวว่า จากการรับฟังครูและพี่เลี้ยงที่ดูแลเด็ก ครูไม่สามารถดูแลเด็กในช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไปได้เพราะมีบุคลากรไม่เพียงพอ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะเป็นเด็กที่มีอายุ 2 ขวบครึ่ง- 5 ขวบ และพบเด็กไร้สัญชาติและเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จำนวนมาก ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่สามารถรับมาดูแลได้ เนื่องจากเด็กไม่มีหมายเลขประจำตัว ทำให้เกิดปัญหาทำให้ไม่สามารถรับเงินอุดหนุนใดๆ และช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้ นอกจากนั้นการตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำได้ยากมาก จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดการและจัดสรรให้เกิดขึ้น ในเมื่อรัฐยังไม่สามรรถเพิ่มศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือแก้ไขปัญหาสัญชาติให้เด็กได้จึงเป็นคำถามว่ารัฐจะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะเด็กเกือบ 2 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และยังไม่รวมเด็กไร้สัญชาติ เป็นคำถามไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคจะสามารถขับเคลื่อนเงิน 3,000 บาทเพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร

 

รศ.จุฑารัศน์ สถิรปัญญา ตัวแทนภาคใต้ กล่าวว่า  เรื่องความอับจนของเด็กใต้เป็นปัญหา เดิมมองว่าภาคใต้มีฐานะ แต่ผลสำรวจล่าสุดไม่ได้เป็นเช่นนั้น ภาพรวมระดับประเทศ 20 % ช่องว่างคนจนและรวยที่สุดเท่ากับ 10 เท่า อัตราความยากจนกระจุกในภาคใต้ โดย 10 จังหวัดยากจนมีภาคใต้อยู่ 4 จังหวัด ความยากจนสัมพันธ์กับน้ำหนักแรกเกิดและปัญหาทุโภชนาการเรื้อรัง ทำให้เด็กใต้แคระแกร็น ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน อัตราตายมีมาก ซึ่งสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาทจะช่วยให้เด็กหลุดพ้นจากวังวนความอับจนนี้ เข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน และเข้าถึงการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้ นอกจากนั้นเรายังมีเด็กที่เป็นชาติพันธุ์ ไม่ว่าชาวเล มอแกน  กลุ่มมานิ ซาไก เป็นต้น ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์พลเมืองไทย ดังนั้นจึงฝากพรรคการเมืองในเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กนี้ด้วย

น.ส.ศีลดา รังสิกรรพุม มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ  กล่าวว่า จาการทำงานในสลัมช่วงโควิด-19 มีพ่อแม่อยากฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจำนวนมาก ครอบครัวแตกแยกเพิ่มขึ้น พ่อเลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่เดี่ยว พ่อแม่วัยใส พ่อ 12 ปี แม่ 13 ปี เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นวิกฤตที่หนักมากและเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่การจัดสวัสดิการเด็กเล็กมีน้อยมาก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็หายไป ทำให้ปัญหาต่างๆ มากขึ้น เพราะในช่วงโควิดศูนย์เด็กเล็กสำคัญมากสำหรับเด็กในครอบครัวเปราะบาง เราจะมีกลไกสนับสนุนเรื่องนี้อย่างไร ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้ชุมชนเปิดบ้านรับเลี้ยงเด็กเล็ก สวัสดิการเด็กเล็กครั้งนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็กระบบถ้วนหน้าจะช่วยเหลือเด็กได้ และเห็นด้วยกับสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า 3,000 บาท มีการจัดสถานดูแลเด็กที่มีความหลากหลายและเข้าถึงได้โดยภาครัฐสนับสนุนด้วย

ต่อมา ดร.สมชัย จิตสุชน ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวนำเสนองานศึกษาในหัวข้อ "เด็กเล็ก จะไปต่อได้อย่างไร"  ว่า ในภาพรวมของประเทศ เราเป็นสังคมสูงวัยเด็กเกิดน้อยลง เด็กจึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป แต่ปรากฏว่าเด็กที่เกิดส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวซึ่งไม่พร้อม อนาคตเราขึ้นกับเขา แต่เรากลับไม่สามารถทำให้เขาพร้อมรับภาระได้ ทั้งนี้ความยากจนเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญ คนจนไม่ลดลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกลับมีลูกเยอะจึงจำเป็นมากที่จะต้องดูแลเด็ก โดยมีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1.เงินอุดหนุนต้องถ้วนหน้า 2.ควรขยายเงินอุดหนุนสู่หญิงตั้งครรภ์และ 3.ควรเพิ่มจำนวนเงินอุดหนุน  ทั้งนี้ในปัจจุบันความครอบคลุมสำคัญที่สุด ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังซึ่งเด็กสำคัญที่สุดและสำคัญกว่าวัยอื่น แต่ในแง่ของแวดวงคนที่กำหนดนโยบายยังไม่เข้าใจเรื่องนี้เท่าไร รัฐบาลปัจจุบันไม่สนใจถ้วนหน้าแต่ช่วยเฉพาะกลุ่ม ถ้าพูดถึงการช่วยคนจนก็จะมีคนจนตกหล่นทันที 

 

ดร.สมชัย กล่าวว่า ส่วนถามว่าถ้าให้ถ้วนหน้าต้องให้ลูกคนรวยใช่หรือไม่ มีวิธีตอบคำถามคือเป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันการตกหล่นได้ เพราะกระบวนการปรับปรุงระบบคัดกรองไม่เคยสำเร็จ  จึงเป็นการคืนภาษีให้คนรวย และทำให้คนจนไม่ตกหล่นต่อไป  ทั้งนี้ต้องเพิ่มเงินจาก 600 บาทเป็นจำนวนที่เหมาะสม สำหรับการเลี้ยงดูเด็กคือจำนวน 3,373 บาทเป็นงานวิจัยทีดีอาร์ไอ ทุกวันนี้เงินอุดหนุนของประเทศไทยต่ำกว่าเงินอุดหนุนเด็กในหลายประเทศ ตอนนี้มีเงินเฟ้อ กำลังซื้อของเงิน 600 ยิ่งน้อยลง จึงต้องเพิ่ม และคนจนเรื้อรังที่เป็นปัญหาหนักจึงต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ หากคัดกรองเมื่อไรจะมีเด็กตกหล่น 30-40 %  จึงต้องถ้วนหน้า

“เวลาผลักดันถ้วนหน้านักการเมืองจะพบบ่อยคือส่วนราชการ เช่น สภาพัฒน์  กระทรวงการคลังจะไม่เห็นด้วย หนึ่งในเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยคือถ้าใช้งบประมาณเท่ากันเอาเงินไปเพิ่มให้กับเด็กยากจนดีกว่า ทำไมต้องมาทำถ้วนหน้าถ้าเป็นตนจะตอบว่า คุณไม่มีวันทำกลุ่มเป้าหมายที่มันหลีกเลี่ยงไม่ให้คนจนตกหล่นได้ เวลาเกิดการตกหล่นคนที่ตกหล่นคือเด็กที่จนที่สุด ถ้าคิดว่ายังจะไปเพิ่มยอดเงินให้เด็กยากจน แบบไม่ถ้วนหน้า คนที่ได้คือคนที่ไม่ได้จนมาก  แต่คนที่จนมากๆ ยังคงไม่ได้อยู่ เป็นสิ่งที่อยากฝากตอบหน่วยงานราชการ ”ดร.สุชน กล่าว

นายฉัตร คำแสง ผอ.ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว  (คิด for คิดส์ /101 PUB) กล่าวว่า อยากเน้นย้ำว่าความยากจนและเหลื่อมล้ำในเด็กสูงกว่าความยากจนภาพรวมในประเทศเสียอีก เด็กส่วนใหญ่เกิดในครัวเรือนยากจน 60 % ที่ไม่มีรายได้เพียงพอส่งเด็กให้จบปริญญาตรี หากคิดถึงเกณฑ์ต่างๆ ทั้งบัตรประชารัฐรายได้  1 แสนบาทต่อคนต่อปี เรามีเด็ก 80 %ของไทยที่อยู่ในเกณฑ์นี้ ตัวเลขตรงนี้น่าห่วงมากว่าเด็กเราเกิดน้อย 5.4 แสนคนและคุณภาพก็อาจจะยังไม่ได้ ที่ผ่านมาในอดีตอัตราการตายเด็กทารกดีมาตลอด 2-3 ปีหลัง หรือก่อนโควิดอัตราการตายเด็กทารกของไทยเพิ่มขึ้น น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ ภาวะโภชนาการและแคระแกร็นต่างๆ ยิ่งน่าเป็นห่วงถึงปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นที่จะส่งต่อไปยังรุ่นถัดไปอีก  ส่วนเงินอุดหนุนเด็กเล็กทุกวันนี้มีปัญหาอย่างไรนั้น ตนไม่ได้ติดใจถ้วนหน้าหรือเจาะจง แต่เราทำแบบเจาะจงแล้วตกหล่น 30  % หรืออาจถึงครึ่งๆ เราแจกเงินเกินครึ่งประเทศแต่มีเด็กยากจนตกหล่นถึงครึ่ง ทำแล้วเหมือนสุ่มแจกจึงจำเป็นต้องเป็นแบบถ้วนหน้า

“ทุกวันนี้ใช้เงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ถ้าถ้วนหน้าใช้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ทุกวันนี้ประเทศไทยใช้งบสุรุ่ยสุร่ายอยู่แล้ว ใช้งบสร้างตึกและถนนเอาเงินไปอยู่กับสิ่งเหล่านี้เยอะมาก เราสามารถลดงบเหล่านี้ลงเป็นแสนล้านและนำมาใช้ลงทุนกับเด็กได้ เราอ้างงบประมาณมีไม่พอสำเร็จดูแลเด็กเล็ก อย่างไรก็ตามเงินอย่างเดียวไม่จบ ต้องมีเรื่องของคน เวลา และความรู้ด้วย ต้องมีการขยายสิทธิวันลา สำหรับแม่ด้วย”นายฉัตรกล่าว

จากนั้นเป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง โดยนายสมชัย ศรีสิทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย  กล่าวว่า เรามีคีย์เวิร์ดอยู่ 3 คำคือ คุณภาพชีวิตของเด็ก คุณภาพของประชากรคนไทย และ อนาคตของประเทศไทย  ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน  คุณภาพของประชากรไทยสิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพของชีวิตเด็กที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนเติบโตซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ในกรณีเด็กเล็กเราจะใช้จ่ายเงินลงไปมันคือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อทำให้คนเหล่านั้นเกิดและเติบโตขึ้นมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ตัวเลขที่รัฐบาลให้ลาคลอด 3 เดือน ไม่พอ  6 เดือนแรกต้องให้เขาอยู่ได้ด้วย ส่วนกระบวนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ต้องมีการเปิดปิดที่เหมาะสม การลงทุนในงบประมาณของรัฐต้องที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวคือประมาณ  1.5 แสนล้านบาท สามารถใช้งบกลางมาดำเนินการให้สำเร็จได้ทันที ไม่ใช่ตัวเลขที่มากเกินไปสำหรับประเทศไทยที่มีงบ 3.3 ล้านบาท เพื่อให้คนเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเป็นอนาคตของชาติ ต้องยอมลงทุนเพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ส่วนจะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นเรื่องนี้ต้องถูกแถลงไว้ในนโยบายของรัฐบาลภายใน 1 เดือน และเป็นสิ่งที่ทุกพรรคต้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งการที่พรรครัฐบาลไม่มาในวันนี้ก็คงไม่ประสงค์เป็นรัฐบาล

ด้านพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคประชาชาติมีชุดนโยบายหลัก 4 ชุด คือการกระจายอำนาจ การนำประเทศสู่รัฐสวัสดิการ การปฏิรูปประเทศ และปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ในเรื่องเด็กเราต้องสร้างสวัสดิการเราต้องสร้างมนุษย์ในวัยเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ ไม่เช่นนั้นเราจะเห็นผู้นำที่ยังมีความคิดเป็นเด็ก เราจะทำในทุกช่วงอายุมาสู่สวัสดิการแห่งรัฐ ต้องมีรัฐสวัสดิการกรณีสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าเราคิดไว้ 0- 15 ปี  สิ่งที่พรรคคิดนอกจากเงินถ้วนหน้า เราคิดว่าต้องใช้งบ 3 แสนล้านบาทคือวิธีที่จะสร้างมนุษย์ให้มีคุณค่าจะทำให้เด็กเป็นผู้ใหญ่หลัง 15 ปี เงินถ้วนหน้าแยกเป็นให้เด็กในช่วงปฏิสนธิ – 6 ปีก่อน เราคิดว่าต้องเกิน 3,000 บาทคือ 4,500 บาท และต้องส่งเสริมให้แม่มีเงินเดือนด้วย ส่วนช่วง 6-15 ปี อาจจะประมาณ 3,000 บาท พร้อมส่งเสริมศูนย์รับเลี้ยงเด็กด้วย รวมทั้งลดรัฐราชการรวมศูนย์เพื่อคืนเด็กให้ครอบครัวและชุมชนด้วย ศูนย์เด็กอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังเป็นวิธีคิดที่รวมศูนย์และอำนาจนิยม เราจึงต้องมีสวัสดิการให้ครอบครัวอยู่ได้ด้วย

ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ  ตัวแทนพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า  การลงทุนในมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ เรามีเด็กเล็ก 4.2 ล้านคน มีงบดูแลเด็กแค่ 2 ล้าน เรามีเด็กขาดโอกาสเยอะมาก ถ้าจะมีเงินอุดหนุนแค่ 3 หมื่นล้าน ขาดอีก 1.4 หมื่นล้าน ตนเห็นด้วยว่าเราควรมีเรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนถ้วนหน้าเพราะใช้เงินอีกไม่มาก โดยคิดว่าหมุดหมายแรกควร 1,200-1,500 บาท  ส่วนเงินอุดหนุน 3,000 บาทใช้งบ 1.5 แสนล้าน เป็นไปได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องถัดไปที่ต้องทำ  อย่างไรก็ตามเห็นด้วยในสเต็ปแรกถ้าเป็นไปได้ควรจะให้ถ้วนหน้า 600 บาท และขยายไปสู่ช่วงที่ฝากครรภ์ด้วย ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างอนาคตให้เด็กและทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย

นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวว่า พรรคแรงงานสร้างชาติทำนโยบายต้องจับต้องได้ เราไปพูดถึงเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงจบปริญญาตรี ลูกส่วนราชการเบิกค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาลได้ พรรคจึงเขียนนโยบายอย่างชัดเจนว่าเด็กตั้งแต่แรกเกิดเราควรดูอย่างไร เรามองว่า 3,000 บาทที่นำเสนอนั้น มันคุ้มหรือไม่ เด็กคนหนึ่งจะเรียนจบปริญญาตรีใช้เงินเป็นล้านบาทกว่าจะออกมาทำงานได้ เราเด็กแรกเกิดควรจะมีสเต็ปอาจจะ 600 บาท จนถึง 12 ขวบ  แต่พรรคเราจะเขียนชัดเจนคือ 1,200 บาท ไปถึงอายุ 12 ขวบ  เราจะพัฒนาศูนย์เลี้ยงเด็กท้องของส่วนท้องถิ่น เอกชน และมีศูนย์เลี้ยงเด็กตามโรงงาน เราลดความเหลื่อมล้ำของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีเช่นเดี่ยวกับลูกของข้าราชการ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรายืนยันหลักการเดิมว่าสวัสดิการของเด็กเล็กจำเป็นต้องได้รับอย่างถ้วนหน้า หัวใจหลักที่เราต้องการแก้ไขโดยเร่งด่วนคือปัญหาของความเหลื่อมล้ำ 60 % ของเด็กและเยาวชนในประเทศนี้อยู่ในกลุ่มของครอบครัวที่มีฐานะยากจนมีรายได้ไม่ได้ไม่ถึง 6,250 บาทต่อเดือน เราจะปล่อยให้เด็กเหล่านี้โตมาตามมีตามเกิดโดยที่รัฐไม่เข้าไปโอบอุ้ม ยิ่งจะเป็นการส่งต่อความเหลื่อมล้ำให้ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป และไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้เลย นโยบายของพรรคก้าวไกลเรามีคูปองรับขวัญ หรือกล่องรับขวัญที่จะมีอุปกรณ์ต่างๆ หนังสือนิทานที่จะช่วยเสริมพัฒนาการเด็กและอุปกรณ์สำหรับคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ โดยคูปองรับขวัญนี้แม่สามารถเลือดสินค้าได้เองมูลค่า 3,000 บาท เราสนับสนุนให้แม่ให้นมลูกเองโดยขยายวันลาคลอด เป็นสิทธิ์ที่ใช้แบ่งกันได้ทั้งพ่อแม่ ระยะเวลาทั้งสิ้นรวมกัน 180 วัน  เราเสนอประกันสังคมถ้วนหน้าที่ขยายสิทธิ์การให้มีเงินชดเชยลาคลอดให้แม่ที่เป็นแรงงานนอกระดับ 6 เดือนๆ ละ 5,000 บาท  ส่งเสริมให้อปท.ในพื้นที่จำเป็น เช่นนิคมอุตสาหกรรม มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กตอนกลางวันหรือเดย์แคร์ เพิ่มขึ้น  รวมทั้งปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ครอบคุลมมากขึ้น

“ส่วนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พรรคก้าวไกลเสนอว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีสวัสดิการถ้วนหน้าที่ 1,200 บาทต่อเดือนสำหรับเด็ก 0-6 ปี แต่เรามารับฟังว่าความต้องการและความจำเป็นซึ่งเราจะนำความเห็นนี้ไปปรับปรุงดูว่าเราจะสามารถขยายสวัสดิการถ้วนหน้าเด็กเล็กให้ถึง 3,000 บาทได้หรือไม่  โดยต้องดูความเป็นไปได้ทางการคลังด้วย ซึ่ง 1,200 บาทต่อเดือนใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท ถ้าต้องถึง 3,000 ก็จะใช้งบเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายแต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ โดยต้องปฏิรูประบบภาษีด้วย ตัดลดงบประมาณกองทัพ งบกลาง เพื่อให้สามารถมีสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับทุกคนได้ ”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

 

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ดูแค่เด็กเพิ่มเริ่มเกิด แต่เราต้องดูในช่วงที่เขาอยู่ในครรภ์ของมารดาด้วย ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญ เราจะต้องไม่ผลักภาระทั้งหมดให้กับแม่เพียงคนเดียว พ่อต้องมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วย โดยภาครัฐจะต้องให้พ่อได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็ก สิ่งที่สามารถทำได้คือให้สิทธิ์พ่อได้รับการลางานจากองค์กรที่ทำทำงานเพื่อมีส่วนร่วมดูแลลูก อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐสามารถจัดทำได้คือเครดิตถุงเงิน โดยรัฐสนับสนุนให้เครดิตถุงเงินกับผู้ที่ตั้งครรภ์ครบ 8 เดือน สามารถนำไปจัดหาสิ่งจำเป็น เช่น นมผง วิตามิน อุปกรณ์ดูแลเด็กเล็ก มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นร่วมดูแลเด็ก เป็นต้น ตนไม่เชื่อว่ารัฐจะมีงบประมาณไม่เพียงพอในการดูแลส่วนนี้ และมีหลายนโยบายที่พรรคเพื่อไทยกำลังดำเนินการโดยจะรับฟังจากเวทีและการพบปะประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาจัดทำเป็นนโยบายต่อไป

นายพรชัย มาระเนศตร์ ทีมพัฒนาเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า เราไม่ได้มองนโยบายเด็กเล็กในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เป้าหมายของพรรคือจะทำอย่างไรที่เราจะเพิ่มจำนวนประชาชนที่ได้รับเงินเดือนสูงขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยต้องมีเงินช่วยเหลือแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนลูกอายุถึง 8 ขวบ โดยตัวเลขที่เป็นตุ๊กตาของพรรคอยู่ที่เดือนละ 2,000 บาท และจะเปลี่ยนชื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นศูนย์พัฒนาและรับเลี้ยงดูเด็กทารก และต้องมีเทคโนโลยีเพื่อเข้าใจสถานการณ์เด็กรายบุคคล จัดทำบิ๊กดาต้าเด็กเชื่อมโยงข้อมูลเด็กตั้งแต่ฝากครรภ์จนเข้ารับบริการในหน่วยงานต่างๆ  เป็นต้น

น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ ซึ่งการดูแลเด็กเล็ก และการให้สวัสดิการถ้วนหน้าเด็กเล็ก 0-6 ปี ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่พรรคได้ประกาศไปแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการนำเสนอตัวเลขจากทางเครือข่ายหรือหลายพรรคการเมืองในตัวเลข 3,000 บาท หรือ 1,200 บาท ซึ่งหลังจากที่พรรคได้พูดคุยกับเครือข่ายแล้วเรายอมรับในหลักการว่าควรมีการให้สวัสดิการถ้วนหน้าแก่เด็กเล็ก แต่ในเรื่องตัวเลขพรรคยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้ แต่สัญญาว่าเราจะกลับไปทำการบ้านและดูความเป็นไปได้ในตัวเลขที่เหมาะสมต่อไป

นางรฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าวว่า เราจะให้คนไทยทุกคนเกิดอย่างมีคุณภาพ อยู่อย่างมีคุณค่าและจากลาอย่างมีศักดิ์ศรี การที่เราจะแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก ต้องแยกออกเป็น 3 กลุ่มประชากร คือ กลุ่มที่ยังไม่มีครอบครัว เด็กเยาวชน คนหนุ่มสาว กลุ่มที่มีครอบครัวแล้ว และ กลุ่มที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์  ถ้าเราจะให้ประชาชนได้สวัสดิการจากรัฐอย่างชัดเจน รัฐบาลจะต้องถูกสั่งด้วยกฎหมายคือกฎหมายสวัสดิการประชาชน ที่เราร่างไว้เรียบร้อยแล้วในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มตามรัฐธรรมนูญกำหนด เรามีแนวคิดต่างๆ 54 นโยบายเสริมที่จะให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับสวัสดิการ มีเงินอุดหนุนถ้วนหน้าอย่างน้อย 2,000—3,000 บาทต่อเดือน ผู้หญิงก่อนคลอด 3 เดือนแรกและหลังคลอด อาจจะได้ 3,000-5,000บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น นอกจากนั้น เราจะมี พ.ร.บ.สภาหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านบริหารจัดการตัวเองได้ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลสวัสดิการประชาชน

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย กล่าวว่า พรรคมีคำประกาศอุดมการณ์ของพรรคชัดเจนว่าเราคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ดังนั้นกระบวนการขับเคลื่อนบนวิถีของขบวนการแรงงานในเรื่องของสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า เราร่วมขับเคลื่อนมาตั้งแต่ 600 บาท วันนี้ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริงและครอบคลุม วันนี้เราเสนอ 3,000 บาท ซึ่งตนคิดว่ายังน้อยเกินไป และทำไมต้องจำกัดแค่ 6 ปี ความเป็นเด็กอยู่ที่ตรงไหน คุณภาพชีวิตของเด็กอยู่ที่ไหน ตนคิดว่าควรมากกว่านั้น เราไม่ควรมองแค่เรื่องของเด็กแต่ควรมองไปถึงแม่ที่อุ้มท้องเด็กก่อนจะคลอดออกมา ซึ่งพรรคเสนอให้ลาคลอด 180 วัน  และในส่วนของขบวนการแรงงานเราพยายามผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิคุ้มครองความเป็นมารดา ซึ่งหากรับรองอนุสัญญานี้แล้วกฎหมายทุกอย่างต้องออกมาเพื่อส่งเสริมสิทธิความเป็นมารดาและการดูแลเด็กต่อไป ดังนั้นประสิทธิภาพในการดูแลเด็กจะเกิดขึ้นได้คนมาเป็นรัฐบาลต้องพิจารณาในเรื่องเหล่านี้

จากนั้นทางคณะทำงานฯ และทั้ง 10 พรรคการเมืองได้ร่วมแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์เพื่อผลักดันสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งทางคณะทำงานและเครือข่ายจะมีการติดตามการทำงานของพรรคการเมืองทุกพรรคในประเด็นนี้ต่อไป