ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เผยนายกฯ ห่วงโควิด ขอประชาชนรับวัคซีนป้องกันอย่างน้อย 4 เข็ม ด้านปลัดสธ. แนะใครฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย 3-4 เดือนให้ไปกระตุ้นเพิ่มที่ รพ. ทุกระดับจนถึง รพ.สต. ทั่วประเทศ ขอความร่วมมือ คกก.โรคติดต่อ กทม. จัดบริการฉีดได้ที่ รพ.รัฐ และเอกชน ตั้งเป้าฉีดให้ได้ 145 -146 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้   ส่วนมาตรการของไทยเน้นลดการติดเชื้อ “สวมแมสก์ - เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608” และปรับแนวทางเวชปฏิบัติให้ยาตามดุลพินิจแพทย์  

 

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า  จากสถานการณ์โรคโควิด – 19 ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและเน้นย้ำให้ประชาชนไปรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกันแล้วเห็นว่าประชาชนคนไทยต้องได้รับวัคซีน 4 เข็ม จึงปลอดภัย และวันนี้เรามีวัคซีนเพียงพอ จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง  

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เริ่มชะลอตัวลง มีการติดเชื้อราวๆ 4-5 แสนต่อวัน แต่อัตราการป่วยหนัก เสียชีวิตลดลง เช่นเดียวกับประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง และไม่ใช่ทั้งประเทศ พบมากในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพ ปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ จังหวัดท่องเที่ยว ส่วนจังหวัดเล็กๆ สถานการณ์ยังปกติ การป่วยหนัก เสียชีวิตยังเป็นไปตามคาดการณ์ สำหรับตัวเลขเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 4,914 ราย เฉลี่ยวันละ 702 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 553 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 319 ราย และเสียชีวิต 74 ราย เฉลี่ยวันละ 10 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้เสียชีวิต 100 % คือกลุ่ม 608

“ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่ามีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ BA.2.75 เริ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์คล้ายไข้หวัดใหญ่ไปทุกที ที่แต่ละพื้นที่จะมีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่อาการไม่รุนแรง ทั้งนี้อัตราการติดเชื้อซ้ำในไทยอยู่ที่ประมาณ 2%” นพ.โอภาส กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโรคโควิด – 19 ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่หลายท่าน ก็ไม่ได้กังวลถึงสถานการณ์ในช่วงนี้

ดังนั้น มาตรการของไทยตอนนี้ คือ ลดการติดเชื้อ โดยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับแนวทางเวชปฏิบัติการให้ยาในกลุ่มป่วย ครั้งที่ 25 โดยลดจากการให้กลุ่มที่มีโรคประจำตัว มาเป็นการให้ยาตามดุลพินิจของแพทย์ เพราะขณะนี้เรามียาเพียงพอ โดยมีโมลนูพิราเวียร์ 11 ล้านโดส ปัจจุบันมีการใช้วันละ 2 แสนโดส ยาฟาวิพิราเวียร 1.3 ล้านโดส จะใช้สำหรับเด็กต่ำว่า 18 ปี เพราะเป็นยาตัวเดียวที่ใช้ได้ สามารถใช้ได้ประมาณ 3 เดือน ยาเรมเดซิเวียร์  2 แสนโดส ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) 2 แสนโดส และแพ็กซ์โลวิด2.5 หมื่นโดส 

สำหรับการฉีดวัคซีนที่ประชุมมีความมติเห็นชอบให้กำหนดมาตรการให้คนไทยรับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม เนื่องจากมีข้อมูลว่าผู้ที่ฉีด 4 เข็ม ยังไม่มีใครเสียชีวิต ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย 3-4 เดือนแล้วให้ไปรับวัคซีนเพิ่มเติมได้ที่รพ.ทุกระดับจนถึงระดับรพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ได้มีการขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. ให้ถ่ายทอดแนวปฏับัติให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ทั้งในรพ.รัฐ และเอกชน  โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 145 -146 ล้านโดส จากปัจจุบันที่ฉีดอยู่ที่ 143 ล้านโดส จึงเหลืออีก 2 ล้านโดสที่ต้องเร่งฉีด โดยเฉพาะกล่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผู้ฉีดวัคซีนขณะนี้พบว่าเป็นเข็ม 4 ประมาณ 4 % กว่า ถือว่าน้อยมาก ยืนยันว่าวัคซีนเรามีเพียงพอ โดยไฟเซอร์มีอยู่ 9 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็มีเพียงพอ ไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่ม ยกเว้นซิโนแวคที่หมดไปแล้ว

 

เมื่อถามว่า นโยบายของประเทศต่อจากนี้เป็นอย่างไร จะมีการปิด หรือควบคุมกิจกรรมอีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า นโยบายของเราตอนนี้คือควบคุมโรคให้ระบบสุขภาพรองรับได้ ประชาชนใช้ชีวิตปกติ  ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีบางประเทศคุมเข้มให้โควิดเป็นศูนย์ แต่ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตามแนวทางที่ประเทศไทยดำเนินการมานั้น องค์การอนามัยโลกก็ชื่นชมว่ามาถูกทางแล้ว ดังนั้นเราไม่ต้องวิตกเกินไป แต่อย่าประมาท ที่ประชุมที่มีอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ ไม่มีได้มีความกังวล จนถึงขั้นต้องงดทำกิจกรรม หรือปิดประเทศ แต่เน้นย้ำถึงการฉีดวัคซีนให้เพียงพอ ส่วนกรณีคอนเสิร์ตใหญๆ ที่มีมากขึ้นปัจจุบัน หากเป็นพื้นที่อากาศปิด อากาศไม่ถ่ายเท คนรวมตัวหน้าแน่น ก็ขอให้ระวัง และสวมหน้ากากอนามัย.