ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสภาเภสัชกรรมทำหนังสือถึงช่อง 3 หลังละคร “มัดหัวใจยัยซุปตาร์” เผยแพร่ภาพและข้อมูลแสดงถึงวิชาชีพเภสัชกรที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด มีผลต่อจรรยาบรรณ ย้ำ! ก่อนแสดงหรือเผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพขอให้ประสานข้อมูลมาที่สภาเภสัชฯ พร้อมให้ละครรับผิดชอบกรณีที่ถ่ายทอดไปแล้ว

 

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2565  ศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์  นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงกรณีละครช่อง 3 มีการเผยแพร่ข้อมูลการซื้อยาจากเภสัชกรในร้านขายยา ที่อาจส่งผลให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงวิชาชีพเภสัชกรไปในทางที่ผิดได้ ว่า  ทางสภาเภสัชกรรมได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) เกี่ยวกับการเผยแพร่ละครชุดเรื่อง “มัดหัวใจยัยซุปตาร์” ทางช่อง 3 เนื่องจากมีการเผยแพร่ตัวละครที่อาจทำให้เด็กและเยาวชน หรือสังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรได้ เพราะมีการให้ตัวเอกไปหาซื้อยาจากเภสัชกรในร้านขายยา และร้องขอให้เภสัชฯ จัดหายาที่มีรูปลักษณ์คล้ายยาคุมฉุกเฉิน แต่เป็นยาแก้คลื่นไส้ อาเจียนใส่ในซองยา และให้แสร้างว่าเป็นยาคุมฉุกเฉินนั้น

“กรณีดังกล่าว ทางสภาเภสัชกรรมเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื่องจากแม้จะเป็นการแสดง เป็นละคร แต่กลับไม่มีการแจ้งเตือน หรือตัวหนังสือขึ้นเตือนว่า เป็นแค่บทบาทสมมติไม่ใช่เรื่องจริง ตรงนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เภสัชกรสามารถทำตามผู้มาขอซื้อยาได้ ทั้งๆที่ความจริงทำไม่ได้ เพราะผิดจรรยาบรรณขั้นร้ายแรง ไม่ถูกมาตรฐาน เป็นการหลอกลวง อย่างคนที่ต้องการคุมกำเนิดอาจทำให้เข้าใจผิด และเกิดปัญหาตามมา”  ศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าว

นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวอีกว่า ทางสภาเภสัชฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทั่วประเทศกว่า 4 หมื่นคน จึงทำหนังสือแจ้งเตือนกรณีที่เกิดขึ้น  เพราะละครได้รับความนิยม อาจมีผลให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้รับชมได้ไม่มากก็น้อย ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการประกอบวิชาชีพของเภสัชกรร้านยาอย่างมาก ประกอบกับมีเภสัชกรจำนวนมาก ได้รับผลกระทบและร้องเรียนมา จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้จัด ผู้สร้าง รวมถึงผู้กำกับ รับผิดชอบดำเนินการ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา

ทั้ง สภาฯ ขอให้ขึ้นข้อความระบุว่า  “การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยาที่เป็นจริง เภสัชกรจะต้องมีการตรวจสอบความจำเป็นในการใช้ยา เลือกสรรยา จัดทำฉลากยาตรงกับตัวยา ก่อนจ่ายยาทุกครั้ง” ก่อนการฉายละครชุดดังกล่าวทุกครั้งจนสิ้นสุดการเผยแพร่ภาพ และขึ้นข้อความดังกล่าวในส่วนที่สามารถรับชมย้อนหลังทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากผู้จัดหรือผู้สร้างละครมีเรื่องเกี่ยวกับเภสัชฯ สามารถติดต่อสภาเภสัชกรรมเพื่อขอข้อมูลได้หรือไม่  ศ.พิเศษ ภก.กิตติ กล่าวว่า สามารถติดต่อประสานข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือเรื่องการใช้ยาต่างๆ ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดกับสังคม

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org