ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยชี้ฟอร์มาลีนหรือน้ำยาแช่ศพเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ ถ้าน้อยๆอาจคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ แต่ถ้าปริมาณมากรุนแรงเสี่ยงเสียชีวิต  ส่วนการตรวจสอบตามรอยร้านหมูกระทะมีหมูฟอร์มาลีน เป็นหน้าที่ท้องถิ่น หากสุ่มตรวจเจอมีความผิด ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกรมอนามัย

 

จากกรณีกรมปศุสัตว์ตรวจยึดโรงงานทำเนื้อสัตว์แห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งไม่มีใบอนุญาตผลิตอาหาร และใบอนุญาตค้าซากสัตว์ โดยพบว่ามีการใช้สารฟอร์มาลีนในการแช่เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ โดยพบใบเสร็จส่งขายร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : อย.ร่วม สสจ. ตามรอยร้านอาหารพบหมูแช่ฟอร์มาลีน จ.ชลบุรี และใกล้เคียง ขณะที่จังหวัดอื่นๆตื่นตัว)

 

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ฟอร์มาลีนหรือน้ำยาแช่ศพเป็นน้ำยาที่อันตรายต่อสุขภาพ การกินเนื้อสัตว์ที่มีสารฟอร์มาลีนเข้าไป อาการจะขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ ถ้ารับน้อยๆ อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางคนมีอาการเวียนศีรษะ ถ้ารับปริมาณมากๆ ก็อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ ซึ่งการรับสารฟอร์มาลีนมากๆ โดยตรงก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่คนที่กินหมูกระทะแล้วอาจกังวลนั้น ตามปกติเราคงไม่ได้กินหมูกระทะกันทุกวันที่จะสะสมจนเป็นอันตราย หากมีระยะห่างก็สามารถกำจัดได้

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีสารฟอร์มาลีนในเนื้อทุกชนิดเลย ซึ่งการขายเนื้อสัตว์ในตลาดนั้น สารฟอร์มาลีนและสารเร่งเนื้อแดงเป็นข้อบ่งชี้ที่ตลาดจะต้องมีการสุ่มตรวจ ยิ่งตลาดที่ได้มาตรฐานติดดาวหรือตลาดที่ได้มาตรฐานกรมอนามัย จะต้องมีการสุ่มตรวจสารพวกนี้ว่าไม่มีสารฟอร์มาลีนและสารเร่งเนื้อแดงอยู่ในเนื้อ

 

นพ.อรรถพลกล่าวว่า ส่วนร้านหมูกระทะหรือร้านอาหารต่างๆ นั้น เรามีมาตรฐานร้านอาหารของกรมอนามัยที่จะกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการอาหารและผู้สัมผัสอาหารว่า จะต้องดูแลอะไรอย่างไรบ้าง เช่น แหล่งที่มาอาหารเป็นอย่างไร ได้คุณภาพหรือไม่ ไม่เฉพาะเนื้อสัตว์ แต่รวมไปถึงวัตถุดิบอื่นๆ ด้วย การล้าง การเก็บ วัตถุดิบก็ต้องได้มาตรฐาน ซึ่งตามปกติร้านอาหารก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสัตว์หรือวัตถุดิบต่างๆ ก่อนซื้อเข้ามาด้วย เพราะหากมีการตรวจพบว่า ร้านอาหารมีการใช้เนื้อสัตว์ที่มีสารฟอร์มาลีนแบบนี้ก็จะมีความผิดเช่นกัน ซึ่งการเปิดกิจการอาหารได้จะต้องได้รับใบอนุญาต หลังจากได้รับใบอนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะมีการลงไปสุ่มตรวจอยู่แล้ว

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเนื้อสัตว์และเครื่องในจากโรงงานดังกล่าวที่มีการใช้สารฟอร์มาลีนส่งไปขายในร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน จะต้องมีการประสานข้อมูลแล้วตามลงไปตรวจเพิ่มด้วยหรือไม่ นพ.อรรถพลกล่าวว่า ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่นั้นๆ ที่จะต้องลงไปสุ่มตรวจ อย่าง กทม.ก็จะเป็นสำนักงานเขตที่ต้องลงไปดู หรือต่างจังหวัดก็ต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่จะต้องลงไปตรวจสอบ ซึ่งอาจจะขอความร่วมมือร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลงไปตรวจร่วมกันได้ เพราะจะมีการตรวจด้วยน้ำยาสามารถบอกได้ว่าเนื้อนั้นมีสารฟอร์มาลีนหรือไม่

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org