ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีข้อมูลสุขภาพในสื่อออนไลน์เรื่องตะคริวนั้น มีอยู่หลายประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ ทั้งเรื่องน้ำเกลือช่วยลดอาการเป็นตะคริว หรือเรื่องเป็นตะคริวบ่อยจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ทั้ง 2 เรื่องนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

สำหรับรายละเอียดเรื่องน้ำเกลือช่วยลดอาการเป็นตะคริว มีการแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กให้ใช้เกลือแกงละลายน้ำให้เค็ม ๆ แล้วดื่ม หรือใช้เกลือเม็ดกับข้าวสารห่อผ้า ทำลูกประคบ ใช้ประคบจะทำให้ค่อยยังชั่วขึ้น หรือคนที่เดินป่า น้ำในกระติกควรเติมเกลือลงไป จะช่วยลดการกระหายน้ำลงได้ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่าเนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตะคริวมีหลายปัจจัย แต่โดยส่วนมากร่างกายมักจะได้รับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินพอจากอาหารที่รับประทาน ประกอบกับข้อมูลการวิจัยซึ่งพบว่าการให้น้ำและเกลือแร่ ไม่สามารถแก้อาการตะคริวได้ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ดื่มน้ำละลายเกลือแกงเพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการตะคริว

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า อาการตะคริวคือ การเกร็งตัว ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดฉับพลันและเป็นอยู่เพียงชั่วขณะก็จะทุเลาไปได้เอง อาจเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนใด ๆ ของร่างกายก็ได้ แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ กล้ามเนื้อน่องและต้นขา อาจมีอาการขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน ขณะนั่งพักหรือนอนก็ได้ พบได้ทุกวัย ส่วนตะคริวที่เป็นตอนกลางคืนพบบ่อยในคนวัยกลางคนและสูงอายุ สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป การออกกำลังกายที่ใช้แรงหรือออกกำลังกายติดต่อกันนานๆ เช่น วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ เล่นกีฬา หรือเกิดจากภาวะเกลือแร่ เช่น โซเดียม โพแตสเซียม แคลเซียม แมกเนเซียม ในเลือดต่ำ ภาวะการณ์ตั้งครรภ์ร่างกายขาดแคลเซียม หรือการใช้ยาขับปัสาวะ ยาขยายหลอดลม ก็ส่งผลต่อการเกิดตะคริวได้ จึงแนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อ ยืดเหยียดบริเวณที่ปวดเป็นก้อนที่เกิดจากกล้ามเนื้อ หดเกร็ง โดยใช้น้ำมันไพลหรือสมุนไพรฤทธิ์ร้อนซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันไพลแบบที่ใช้ง่าย สะดวก รูปแบบสเปรย์ฉีดพ่น นวดเบาๆ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ดี และควรประเมินปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เป็นตะคริว เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเลือกวิธีการป้องกัน ดูแลรักษาสุขภาพอย่างเหมาะสม 

อาการตะคริวสามารถป้องกันได้โดยดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีเกลือแร่ประเภทแคลเซียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม เช่น นมสด โยเกิร์ต ผักโขม ปลาเล็กปลาน้อย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสมุนไพรที่มีสารโพแทสเซียม แมกนีเซียมและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น กล้วยน้ำว้าห่าม ที่มีรสฝาดออกหวาน จะช่วยบำรุงร่างกาย เนื่องจากกล้วยห่ามมีแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมสูง กล้วยหอม กล้วยไข่ มะเขือเทศ ส้ม แคนตาลูป รวมถึงผักต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนช่วยเสริมเกลือแร่ให้เพียงพอ

ส่วนกรณีผู้ให้ข้อมูลด้านสุขภาพโดยระบุว่าเป็นตะคริวบ่อยจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าตะคริวเป็นโรคของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทส่วนปลาย ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดโดยเฉพาะและไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองที่จะเป็นเหตุให้กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ โดยนายแพทย์ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรกรรมประสาท เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นภาวะที่หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน จะเป็นหลอดเลือดเส้นใหญ่หรือเส้นเล็กก็ได้ ส่วนหลอดเลือดสมองแตกจะมีเลือดออกในเนื้อสมองหรือฉาบในผิวของสมองก็ได้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดเกิดความเสื่อม พันธุกรรมในครอบครัว แต่ยังมีปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ โรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันสูงไปเกาะที่หลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบตันได้ โรคเบาหวาน ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าควบคุมไม่ดีหลอดเลือดจะแข็งเปราะ ยืดหยุ่นน้อยลง และโรคหัวใจเต้นพริ้ว ที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ โรคประจำตัวเหล่านี้จำเป็นต้องดูแลสุขภาพและพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ทั้งผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ พฤติกรรมเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org