ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างถั่งเช่า แท้จริง “ถั่งเช่าสีทอง” คนละตัวกับ “ถั่งเช่าหนอน” ซึ่งเป็นสมุนไพรยาจีน อาจช่วยบำรุงร่างกายแต่ไม่ช่วยรักษาโรคอยู่ดี ย้ำ! คนมีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง

 

กำลังอยู่ในกระแสความสนใจเกี่ยวกับ “ถั่งเช่า” โดยเฉพาะถั่งเช่าสีทอง กับถั่งเช่าหนอน  ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า "ถั่งเช่าสีทอง"  เป็นหญ้าหนอนคนละตระกูลกันที่มีการเพาะเลี้ยงขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยังไม่เคยเห็นการศึกษาถึงสรรพคุณต่างๆ ที่สำคัญทางการแพทย์แผนจีนก็ไม่ได้แนะนำการใช้ถั่งเช่าสีทอง  

(อ่านข่าวเพิ่มเติม : แพทย์รามาฯเตือนอย่ากิน “ถั่งเช่าสีทอง” ไม่ช่วยบำรุงไต หนำซ้ำทำให้ยิ่งเสื่อม เสี่ยงไตวาย)

ล่าสุดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกออกมาเตือนถึงการใช้ถั่งเช่า โดย นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า "ถั่งเช่า" มี 2 อย่าง ซึ่งไม่เหมือนกันเลย คือ 1. "ถั่งเช่าทิเบต" ซึ่งเป็นตัวหนอนและมีเชื้อราที่ขึ้นบนตัวหนอนงอกออกมา ชื่อ Cordyseps Sinensis ซึ่งจะพบบนพื้นที่สูงใต้หิมะบนเทือกเขาหิมาลัย จัดเป็นสมุนไพรจีนที่นำมาใช้ในตำรับยาทางการแพทย์แผนจีน มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ตัวนี้มีราคาแพงมากราคากิโลกรัมละเป็นล้านบาท ตัวเดียวขนาดกลางๆ ก็ราคา 500-600 บาทต่อตัว 

และ 2. "ถั่งเช่าสีทอง" เป็นเห็ดสีทอง ลักษณะคล้ายๆ กับเห็ดเข็มทอง ตัวนี้สามารถเพาะเลี้ยงได้ในฟาร์ม มีราคาถูกกว่า ที่เห็นนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเสริมอาหารก็จะเป็นถั่งเช่าสีทอง ซึ่งไม่ได้มีสรรพคุณเป็นยา คนจีนก็มีการนำตัวนี้มารับประทานเป็นอาหารทั่วไปเหมือนเห็ดอื่นๆ ในการทำอาหารหรือทำน้ำซุป

อย่างไรก็ตาม  หลักในการรับประทานถั่งเช่าก็จะเหมือนกับสมุนไพรตัวอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ถั่งเช่าสีทองมักมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงมีข้อแนะนำ ดังนี้

1.หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาต่างๆ อยู่นั้น หากจะรับประทานถั่งเช่าหรือสมุนไพรตัวอื่นๆ ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อน ว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่ รับประทานไปแล้วจะเกิดโอกาสที่ยาจะตีกันหรือไม่

“ขอย้ำว่าเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรค จึงไม่สามารถนำมากินแทนยาได้ เพียงแค่ไปช่วยเสริมอาหารเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายเท่านั้น” นพ.ขวัญชัย กล่าว

2.หากสามารถรับประทานได้ ควรจะเริ่มรับประทานแบบลักษณะลองใช้ทีละน้อย เช่นเดียวกับสมุนไพรทุกชนิดที่เราจะรับประทาน เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอาการแพ้เกิดขึ้นหรือไม่ ลองดูปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจจะไม่มีมีแค่ถั่งเช่าอย่างเดียว แต่มีส่วนผสมอย่างอื่นด้วย ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และ 3.ไม่ควรรับประทานแบบต่อเนื่อง โดยต้องมีการเว้นช่วง เช่น รับประทาน 2 สัปดาห์ เว้น 1 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายได้พัก และไม่เกิดการสะสม

นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ รวมถึงถั่งเช่า จะต้องบริโภคอย่างมีความรู้และความเข้าใจ รู้หลักการใช้อย่างปลอดภัย ส่วนกรณีที่รับประทานแล้วมีปัญหาสุขภาพ เช่น ไตวาย ตรงนี้อาจเกิดจากโรคเดิมที่มีอยู่ โดยมีการใช้ที่ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อห้ามในการใช้ ซึ่งอย่างที่ย้ำว่าหากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเดิมก็ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน  

“สิ่งที่ต้องย้ำเตือนคือ ทุกวันนี้จะมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์มาหลอกขายในราคาแพง ซึ่งอย่างที่บอกว่าถ้าเป็นตัวถั่งเช่าที่เป็นหนอนจากทางหิมาลัยราคาแพงมาก คงไม่ได้นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารราคากล่องละ 1-2 พันบาท คงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องเตือนผู้บริโภคให้ระวังถูกหลอก” รองอธิบดีกรมฯ กล่าว

นอกจากนี้ ตัวถั่งเช่าสีทองจริงๆ แล้วไม่ได้มีสรรพคุณเก่งกล้าแบบถั่งเช่าตัวหนอนที่นำมาใช้เป็นยาจีน แต่จะเหมือนเห็ดทั่วๆ ไปที่นำไปใช้ทำเป็นอาหารได้ มีโปรตีนไปช่วยเสริมร่างกาย มีสารแอนติออกซิแดนท์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งการที่เอามาใช้ทำผลิตภัณฑ์เนื่องจากมีชื่อที่เหมือนกันก็นำมาอ้างอิง แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละตัว สรรพคุณก็ไม่เหมือนกัน อาจมีประโยชน์เรื่องการบำรุงร่างกายในการเป็นอาหาร แต่ไม่มีเรื่องของการรักษาโรค ส่วนการรับประทานอาหารเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แนะนำว่าควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นพืชผักผลไม้และเครื่องเทศที่มีตามภูมิภาค