ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย่าเชื่อ! ตำแหน่งสิวสามารถบอกโรคได้ สิวเป็นโรคที่เกิดจากอะไร ดูแลยังไงให้ถูกวิธีเมื่อเป็นสิว การบีบและแกะสิวอันตรายอย่างไร   

จากกรณีข้อมูลในสื่อออนไลน์ระบุ ตำแหน่งสิวสามารถบอกโรคได้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งของการเกิดสิวในที่ต่าง ๆ ของใบหน้าหรือร่างกายกับความผิดปกติหรือโรคในระบบอื่น ๆ นั้น ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันหรือสนับสนุนความผิดปกติในเรื่องดังกล่าว โดยสิวเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของรูขุมขนและต่อมเหงื่อ (Pilosebaceous unit) เกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักจะเกิดมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น กลไกการเกิดสิวเกี่ยวข้องกับการอุดตันของรูขุมขน การผลิต sebum หรือไขมันจากต่อมไขมันที่มากผิดปกติ เชื้อก่อโรค Cutibacterium acnes ที่ผิวหนัง และขบวนการอักเสบของร่างกาย โดยมีปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์ ฮอร์โมนโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) ปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย กรดไขมันจำเป็นที่ผิวหนังบางชนิด เป็นตัวส่งเสริมในการเกิดโรค สิวอาจสัมพันธ์กับโรคที่มีความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนเพศซึ่งจะสงสัยมากขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสิวรุนแรง มีสิวเห่อช่วงใกล้หรือช่วงที่มีประจำเดือน ร่วมกับมีหน้ามันมาก ขนดก ผมบางจากฮอร์โมน เสียงแหบเหมือนผู้ชาย เป็นต้น บางคนอาจพบมีความผิดปกติของประจำเดือนร่วมด้วยได้ ซึ่งกรณีที่มีความผิดปกติที่สงสัยจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการต่อไป  

ทั้งนี้ อาการของสิวยังพบได้ทั้งแบบที่ไม่มีการอักเสบที่เรียกว่าสิวอุดตัน และแบบสิวอักเสบที่จะเห็นลักษณะเป็นตุ่มแดง ตุ่มหนองหรือสิวอักเสบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า สิวหัวช้าง ตำแหน่งที่พบมากที่สุดของสิวคือบริเวณใบหน้า และยังพบได้ทั้งหลัง ไหล่ หน้าอกและคอ สำหรับสาเหตุหลักของสิวที่หลังและหน้าอก มักจะเกิดจากสิ่งสกปรกที่ทำให้รูขุมขนระคายเคือง เช่น เหงื่อ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ ครีมบำรุง หรือครีมหมักผมที่มีความเหนียว การรักษาสิวที่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ผู้ที่มีสิวควรระวังการทายาลดการอักเสบที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ ถ้ามีอาการควรหยุดทา และพบแพทย์ เพราะการรักษาสิวที่ไม่ถูกวิธีโดยเฉพาะการบีบแกะสิว อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะนำว่า เมื่อมีสิวคนส่วนมากจะหาวิธีทำให้สิวหายเร็วขึ้น ทั้งซื้อยาหรือเวชสำอางมาใช้ พยายามขัดถูแรง ๆ หรือใช้เครื่องสำอางมาปกปิดสิว เมื่อเกิดสิวขึ้นมามักจะแกะหรือพยายามบีบสิว เพราะเชื่อว่าวิธีนี้ สิวจะหายได้เร็วขึ้น แต่การบีบแกะสิวอาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น การทำให้สิวอุดตันหรืออักเสบติดเชื้อ เกิดรอยแดงหรือรอยคล้ำหลังเป็นสิว เพิ่มโอกาสของการเกิดแผลเป็น ทั้งแผลเป็นชนิดที่เป็นหลุมสิวและแผลเป็นนูน แต่ที่สำคัญคือ การอักเสบติดเชื้อ เช่น การอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณรอบจมูกและริมฝีปากด้านบน ที่อาจทำให้การติดเชื้อมีการแพร่กระจายไปยังหลอดเลือดดำของใบหน้า แพร่กระจายของเชื้อไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายต่อไป จากที่เห็นในกรณีแพร่กระจายของเชื้อเข้าไปภายในสมอง ทำให้มีอาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตา ตามัว หรืออาจรุนแรงถึงขั้นสับสน ชักและหมดสติได้ ซึ่งพบได้มากขึ้นในคนที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม การรักษาสิวที่ถูกวิธีควรงดแกะเกาขัดถู ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิดทั้งยาทาและยารับประทาน การเลือกใช้ยาจะขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของโรค คนเป็นสิวควรล้างหน้าด้วยสบู่อ่อน ๆ วันละ 2 ครั้ง ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป ไม่ควรขัดถูบริเวณที่เป็นสิวด้วยความรุนแรง หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่าง ๆ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันมากขึ้น 

สำหรับการเกิดสิว ในช่วงหน้าฝนหรืออากาศแปรปรวน มีฝนตกบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้สิวเห่อได้ด้วย โดยแพทย์หญิงมิ่งขวัญ ให้ข้อมูลถึงโรคผิวหนังยอดฮิต ที่มากับหน้าฝน หนี่งในนั้น คือ สิวเห่อ (Seasonal aggravation of acne) ว่า ความร้อนและความชื้นล้วนมีผลต่อทั้งปริมาณ และการอักเสบของสิว หลายคนอาจจะสังเกตว่าสิวเห่อขึ้นกว่าปกติ ความอบอ้าวส่งผลต่อเชื้อบนผิว การเปิดของรูขุมขน การทำงานที่เพิ่มขึ้นของต่อมไขมัน เหล่านี้ส่งผลต่อสิวบนใบหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย  การดูแลรักษา  ดูแลความสะอาด หากอักเสบหรือเห่อมากควรพบแพทย์ ใช้ยาสิวอย่างสม่ำเสมอ เปลี่ยนหน้ากากทุกวัน เลือกหน้ากากที่ไม่ระคายผิวจนเกินไป

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org