ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวปีใหม่ 2566 ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ย้ำ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" และยังต้องเข้มป้องกันโควิด 19 สวมหน้ากากเมื่ออยู่สถานที่คนหมู่มาก ฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม พร้อมกำชับ อสม.ช่วยสอดส่องร้านค้าทำผิดกฎหมายขายน้ำเมา ตรวจประเมินความพร้อมผู้ขับขี่ด่านชุมชน ด้านปลัด สธ.ให้โรงพยาบาลเพิ่มบุคลากร 120-130% จากช่วงปกติ เตรียมพร้อมห้องผ่าตัด ไอซียู ระบบส่งต่อ และจัดทีมกู้ชีพประจำตามเส้นทางสายหลัก

 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม  ที่รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กทม.  นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"

 

นายสาธิต กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 กำลังจะมาถึง ประกอบกับประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนไทยโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ทำให้มีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข จึงขอให้ระมัดระวังสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง โดยยังต้องเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันเนื่องจากยังคงพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในหลายพื้นที่ หากต้องอยู่ในสถานที่มีคนหมู่มากขอให้สวมหน้ากากอนามัย และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้ครบอย่างน้อย 4 เข็ม โดยฉีดกระตุ้นเมื่อได้รับเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน

 

นายสาธิต กล่าวต่อว่า ในการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ มักจะมีการดื่มสุราร่วมด้วย จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น โดยเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีผู้ขับขี่มากกว่าครึ่งที่ดื่มแล้วเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ดังนั้นหากต้องรับผิดชอบขับรถ ต้องไม่ดื่มสุรา แต่ถ้าจะดื่มสุราก็ต้องห้ามขับรถ ขอให้ยึดหลัก “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง

กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ อสม.ทั่วประเทศดูแลประชาชนในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ด่านชุมชน โดยประเมินสภาวะมึนเมาและคัดกรองผู้ที่ดื่มแล้วขับ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ออกไปขับขี่บนถนน ตามวิธีประเมินที่ได้แจ้งให้ทราบแล้ว รวมถึงช่วยสอดส่องเฝ้าระวังร้านค้าในชุมชนไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการขายในสถานที่และเวลาที่ห้ามจำหน่าย การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ ได้สนับสนุนความรู้ในการดูแลป้องกันอุบัติเหตุผ่านแอปพลิเคชั่นสมาร์ท อสม. เพื่อส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ทั้งออกเคาะประตูบ้าน สื่อสารผ่านผู้นำชุมชนหรือสื่อในชุมชน และยังพัฒนา อสม.จิตอาสาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล ทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินทางถนนอย่างถูกวิธี ก่อนส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์หรือสถานพยาบาลอย่างปลอดภัย ช่วยลดการเสียชีวิตหรือความพิการ รวมทั้งขอให้เป็นแบบอย่างที่ดีเรื่องพฤติกรรมความปลอดภัย โดยช่วยกันปฏิบัติตามกฎจราจร ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือลดจำนวนอุบัติเหตุกับคนได้ถึง 1 ล้านคน

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ส่วนกลางและจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลสนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ เตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินพร้อมเจ้าหน้าที่ทุกระดับ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและทางเรือ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS) และระดับสูง (ALS) ประจำบนเส้นทางสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรเป็น 120-130% เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ รวมถึงดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ นอกจากนี้ ขอให้ป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาลโดยประสานตำรวจท้องที่มาตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะ กรณีมีผู้เข้ารับการรักษาจากเหตุทะเลาะวิวาทให้รีบแจ้งเหตุ เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุ สร้างความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ และดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุขั้นเด็ดขาดให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม สำหรับการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว ร่วมกันสกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุเพื่อแสดงความห่วงใยในชุมชน รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชนในการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่กับครอบครัว

 

"ช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นวันหยุดสำคัญที่คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาสังสรรค์ อยู่กับครอบครัว แต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนอกจากจะยังคงทำงานช่วยเหลือดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ยังต้องรับปริมาณงานเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงปกติ โดยเทศกาลปีใหม่ 2563 เพียง 7 วัน  มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลมากกว่า 3 หมื่นราย เฉลี่ยวันละเกือบ 4,300 ราย คาดว่าปีใหม่ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลารักษาผู้ป่วยจากโรคอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุด้วยการ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" นพ.โอภาสกล่าว

ด้าน นพ.ธเรศกล่าวว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาใหญ่ของไทย ช่วงที่ผ่านมามีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งขับรถโดยประมาท ดื่มสุราก่อนขับขี่ ไม่ใช้หมวกกันนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ โดยการดื่มแล้วขับยังมีแนวโน้มเป็นปัญหาต่อเนื่องในทุกเทศกาล พบร้านค้ามีการกระทำผิด ทั้งการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย การขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กรมควบคุมโรคในฐานะผู้รับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเน้นย้ำให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทำงานเชิงรุก โดยมีการออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล

 

ส่วนในช่วงเทศกาล จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ พร้อมทั้งขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการไม่ให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และขอให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแล ถ้าพบเห็นผู้กระทำผิด อาทิ ขายในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ขายในเวลาห้ามขาย การเร่ขาย และโฆษณาส่งเสริมการขาย สามารถแจ้งศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3342 หรือ สายด่วน 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ ยังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำโครงการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โดยได้รับงบประมาณค่าตรวจจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการตลอดปีเป็นเวลา 3 ปี โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.)กรมการขนส่งทางบก  โดยตำรวจจะตรวจผู้ขับขี่ที่รู้สึกตัวด้วยวิธีเป่าลมหายใจ หากไม่สามารถเป่าได้ให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ และนำผลตรวจไปประกอบสำนวนคดีตามกฎหมาย ขอย้ำว่า ผู้ที่จะขับขี่ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง สวมหมวกนิรภัยหรือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ล้อหมุนเพื่อความปลอดภัย

 

ด้านดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ สสส. ชวนทุกคนมาฉลองปีใหม่ 2566 ด้วยความสุขและเกิดสิริมงคลกับชีวิต โดย สสส. ได้ผลิตสปอตโฆษณา 2 ชิ้น เพื่อรณรงค์ให้เทศกาลปีใหม่ 2566 เป็นเทศกาลที่ส่งความสุขให้แก่กัน 1. “ขอบคุณคนไทย ที่ไม่ให้เหล้า” ให้เหล้า = แช่ง  เพื่อชวนมอบของขวัญปีใหม่ที่ไม่ใช่เหล้าให้แก่กัน เลิกเหล้าเพื่อตนเองและครอบครัว 2. “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” โดยสื่อสารไปถึงคนที่มักดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ และคิดว่าขับรถได้ไม่เป็นไร ดื่มแล้วยังขับไหว และชี้ถึงผลของแอลกอฮอล์ ที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะเกิดปฏิกิริยากับร่างกายเมื่อขับขี่ ทำให้สายตาและการมองเห็นแย่ลง และการตัดสินใจก็ช้าลง หวังว่าสปอตนี้จะกระตุ้นเตือนพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น และหวังให้ทุกหน่วยดูแลเรื่องนี้ร่วมกันไปตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาล