ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดฉากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)  ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย"  โดยมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ได้ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2565  ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า  ที่ผ่านมาผลงานด้านสุขภาพของประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นความครอบคลุมของระบบบริการสุขภาพ มาตรฐานการให้บริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนความสามารถในการควบคุมรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม และผลจากการที่ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งระบบอาสาสมัครจิตอาสา ที่แข็งแกร่งและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“ วิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมาเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า เรื่องสุขภาพมีความหมายและความสำคัญมากกว่าเรื่องการเจ็บป่วย แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ และเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากและรุนแรงที่สุดคือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ขณะเดียวกันเราต่างรับรู้ถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม ความสามารถของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ความเข้มแข็งของการเกื้อกูลกันในระดับชุมชน ทั้งหมดนี้จึงเป็นความหวัง เป็นโอกาส และเป็นอนาคตของประเทศไทย ตามแนวคิดหลักของสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวปาฐกถาพิเศษในตอนหนึ่งว่า ถ้าพูดถึงความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพ ที่เป็นธีมหลักของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่ชื่อว่า ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส ความหวังและอนาคตประเทศไทย ส่วนตัวมองคำว่า "ความเป็นธรรมมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น" เพราะหมายถึงต้องทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำถูกลดช่องว่างลง หรือที่เข้าใจคือทุกคนควรจะได้รับ สิ่งที่ตัวเองมีสิทธิจะได้รับ ซึ่งเป็นสิทธิปัจเจกบุคคล โดยไม่มีบกพร่อง ดังเช่นในปฏิญญาสากล จากสหประชาชาติ ในประเด็นคุณภาพชีวิตที่ดี ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว

รวมทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลรักษาทางแพทย์ และบริการทางสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกัน ยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่น ในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน และย้ำว่าความชัดเจนคือสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องยา แต่ยังมีปัจัยจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอยู่ด้วย เช่น การมีงานทำ มีบ้านอยู่ มีมาตรฐานคุณภาพชีวิต และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี 

ดังนั้น ความเป็นธรรมด้านสุขภาพต้องไม่เกิดจากบริการการรักษาพยาบาล หรือค่ายาต่างๆ ฟรีจากรัฐเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องเจ็บป่วย และดำรงชีวิตต่อไปด้วยมาตรฐานที่ดี และสิ่งเหล่านี้กำลังเคลื่อนเข้ามาในสังคมไทย 

"ผมไปมาหลายประเทศ ระบบสาธารณสุขของบ้านเราได้รับคำชื่นชมมาก โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ แต่คำชมก็แฝงไว้ด้วยความน่ากลัว เพราะโลกทั้งใบกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่สำคัญคือ อายุขัยเฉลี่ยของผู้คนจะสูงขึ้น 30% แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ขยับขึ้นไปตาม หมายความว่า เราจะมีคนแก่มากขึ้น มีระบบที่ดูแลได้ แต่คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องช่วยกันตอบ" 

และในตอนท้ายตนย้ำกับทุกคนว่า ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ จะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ความหวัง ซึ่งเป็นความหวังที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทยต่อเวทีโลก ที่จะแสดงให้ได้เห็นว่าอนาคตของประเทศไทยจะต้องดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ ผ่านความเชื่อมั่นของพวกเรา ที่มุ่งสร้างอนาคต สังคมที่ดีกว่าเดิม พร้อมกับส่งมอบส่งดีๆ ให้ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังได้ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ในการประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ได้แก่

1. จะสนับสนุนให้มีการใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  

2. จะสนับสนุนให้ประชาชนมีการออกกำลังกาย เล่นกีฬา และมีกิจกรรมทางกายอื่นๆ สะสมเป็นข้อมูลกลางเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค และสร้างสังคมสุขภาวะ

3. จะสนับสนุนให้มีระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เพื่อความมั่นคงและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุให้กับประชาชนทุกคน