ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เริ่มแล้ว! วันแรกฉีดวัคซีนโควิดสัญชาติไทย อภ.ระยะที่ 3 รูปแบบเข็มกระตุ้น ตั้งเป้าฉีดในอาสาสมัคร 4,000 คน หากผลน่าพอใจ พร้อมยื่นขึ้นทะเบียน อย. ในปี 66  ด้าน "อนุทิน" ขอคารวะปชช.-อสม.เสียสละร่วมเป็นอาสาสมัครทดลอง ขณะที่กรมวิทย์ยันปลอดภัย 100% 

 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ศาลาประชาคม ยงใจยุทธ ศาลากลาง จ.นครพนม  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.)  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ของวัคซีนโควิด-19 HXP-GPOVac ขนาด 10 ไมโครกรัมในรูปแบบเข็มกระตุ้นเปรียบเทียบกับวัคซีนโควิดชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ โดยศึกษาในอาสาสมัคร 4,000 คน 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า วัคซีนวิจัยชนิด NDV-HXP-S สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การเภสัชกรรม(HXP-GPOVac) ขณะนี้ได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว และในวันนี้ (23 ธ.ค.) เป็นการศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะดำเนินการที่โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม ในอาสาสมัครอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 4,000 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มหลักมาแล้วจำนวน 2 เข็ม ซึ่งหากการทดลองครั้งนี้ พบว่ามีศักยภาพในการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนหากเกิดการระบาดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาตัวเองด้านวัคซีนของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ท่านเหล่านี้คือวีรบุรุษ วีรสตรีที่มาช่วยในการทดลองครั้งนี้ เพื่อให้เกิดวัคซีนโควิดโดยคนไทยเพื่อคนไทย โดยตนต้องขอคารวะทุกท่านทั้ง 4,000 ท่านที่ให้ความช่วยเหลือ เท่าที่ทราบมีทั้งประชาชน และอสม. มาช่วยเป็นอาสาสมัคร ซึ่งอสม.นอกจากช่วยงานสาธารณสุข ยังเสียสละมาร่วมศึกษาวิจัยครั้งนี้ แต่ขอให้มั่นใจไม่มีอันตรายเราผ่านการทดลองมาถึงระยะที่ 3 แล้ว ปลอดภัยแน่นอน โดยวัคซีนนี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีเชื้อตาย ซึ่งคนไทยคุ้นเคยมีการผลิตเหมือนในวัคซีนหวัดใหญ่

 

"อสม.ทำรัฐมนตรีสาธารณสุขจุก เพราะเมื่อทราบว่าหนึ่งในอาสาสมัครที่มาทดลองวัคซีนครั้งนี้ เป็น อสม. ยิ่งทำให้รู้สึกจุกอกและปลื้มใจตื้นตันใจ นี่คือความศรัทธาที่เราต้องมีแก่ อสม. ที่ทุ่มเทให้งานสาธารณสุข รวมถึงแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขงานที่ทำงานตรงนี้และติดตามอาสาที่ฉีดวัคซีนเพื่อประโยชน์กับประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางวัคซีน ความมั่นคงด้านสุขภาพ"นายอนุทิน กล่าว 

 

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า วัคซีน HXP-GPOVac เป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาในประเทศไทยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ส่วนเรื่องคุณภาพนั้นที่ผ่านมาก็มีการตรวจอย่างรอบคอบของทีมวิจัย ตรวจสอบประสิทธิภาพ ซึ่งความปลอดภัยจะต้องสูงที่สุดจึงจะสามารถนำมาทดลองในคนได้ การทดลองนี้จะทำให้ประเทศไทย มีความปกติโดยเร็วที่สุด มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สุขภาพ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า สาเหตุที่มาศึกษาวิจัยในพื้นที่นครพนมเนื่องจากการทดลองในระยะที่ 1 และ 2 น่าพอใจ ประกอบกับจ.นครพนม มีการสร้างฐานที่เหมาะสมทั้งจำนวนปริมาณและการติดตามอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงเรามีการศึกษาทดลองในอดีตที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากพื้นที่ดังกล่าว และขอย้ำว่า วัคซีนนี้ปลอดภัย 100% เพราะมีการศึกษาวิจัยเรื่องความปลอดภัยมาแล้ว ที่สำคัญมีการตรวจคุณภาพ ระดับภูมิคุ้นกันผ่านมาตรฐานทั้งหมด

 

"ขอให้พวกเราช่วยกันทำให้สำเร็จจะกลายเป็นวัคซีนเมดอินไทยแลนด์ครั้งแรก" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนฯ กล่าวว่า ครั้งนี้ เป็นการวิจัยกันด้วยมาตรฐานระดับโลกเพราะเป็นความร่วมมือกับระดับโลกไม่ได้ทำการวิจัยเพียงลำพัง ทั้งโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรPATH ฯลฯ มีการทดลองตามขั้นตอนจนมาถึงระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะจะต้องนำข้อมูลไปขึ้นทะเบียนเพื่อนำมาใช้จริง ทั้งหมดที่ทำก็เพื่อให้เราพึ่งพาตัวเองได้ เมื่อเกิดวิกฤตจะได้ไม่ต้องวิ่งหาวัคซีน แย่งวัคซีนเหมือนช่วงแรกที่แม้รัฐบาลทุ่มงบประมาณ แต่ซื้อได้น้อย เพราะตอนแรกคนแย่งซื้อกันเยอะ ทั้งนี้ เรายังร่วมกับบราซิล และเวียดนามในการพัฒนาด้วยเช่นกัน

 

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 องค์การเภสัชกรรมได้มีการปรับแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ฟักเพื่อให้พร้อมสำหรับรองรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในระดับอุตสาหกรรม โดยโครงการวัคซีน NDV-HXP-S เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานPATH, Icahn School of Medicine at Mount Sinai (Icahn Mount Sinai) นิวยอร์ค, University of Texas at Austin (UT Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงงานผู้ผลิตวัคซีนใน 3 ประเทศ คือ บราซิล เวียดนาม และไทยโดยวัคซีนต้นแบบมีการพัฒนามาจากนวัตกรรมการตัดต่อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle disease virus, NDV) ให้มีการแสดงออกของโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาที่ถูกปรับแต่งด้วยเทคโนโลยีเฮกซะโปร (HexaPro) ให้มีความคงตัวมากขึ้น ซึ่งโปรตีนหนามเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 

 

โดยเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด NDV ถูกพัฒนาขึ้นโดย Icahn Mount Sinai ขณะที่ UT Austin เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี HexaPro และองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตวัคซีนวิจัยโควิด 19 ชนิด HXP-GPOVac จาก seed virus ที่ได้รับจากโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (Icahn Mount Sinai) โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เช่นเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่โรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การเภสัชกรรม ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 

 

จากข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ในปี  2564 และระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2564-2565 แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมนี้มีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และข้อมูลดังกล่าวได้นำมาใช้ในการคัดเลือกสูตรตำรับที่เหมาะสมสำหรับการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งหากผลการศึกษาในระยะที่ 3 เป็นที่น่าพอใจ จะสามารถยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ในปี 2566 และกระจายวัคซีนสู่ผู้ใช้ได้หลังจากนั้น โดยองค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนดังกล่าวประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต