ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข มอบความสุขแก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ ส่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คัดกรองสุขภาพ 9 ด้าน เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ปีแห่ง สุขภาพสูงวัยไทย ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้ผู้สูงอายุ 10 ล้านคน สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามศักยภาพอย่างมีคุณภาพ ลดภาระของครอบครัว ชุมชนและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สวนทางกับอัตราการเกิดที่ต่ำลง ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานดูแลประชากรวัยผู้สูงอายุมากขึ้น จึงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาสุขภาพได้ เพราะผู้สูงอายุนี้ถือเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ ทั้งสภาพร่างกาย และจิตใจ จึงมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย และในปี พ.ศ. 2566 กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็น ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย

กรม สบส.ตระหนักเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงได้พัฒนาระบบการคัดกรองผู้สูงอายุในชุมชน ผ่านแอปพลิเคชัน “Smart  อสม.” เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 โดยมี อสม. กว่า 1.05 ล้านคน ออกให้บริการภายใต้นโยบาย 3 หมอ ในฐานะหมอคนที่ 1 ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกค้นหา คัดกรองสุขภาพ 9 ด้าน ให้กับผู้สูงอายุทั่วประเทศ อย่างน้อย 10 ล้านคน ซึ่งการคัดกรองสุขภาพ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านความคิดความจำ 2.ด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย 3.ด้านการขาดสารอาหาร 4.ด้านการมองเห็น 5.ด้านการได้ยิน 6.ด้านภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 7.ด้านการกลั้นปัสสาวะ 8.ด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และ 9.ด้านสุขภาพช่องปาก 

 “การคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นขั้นตอนแรกของการเก็บข้อมูลสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การบ่งชี้ภาวะสุขภาพ และทราบความต้องการของผู้สูงอายุ เป็นประโยชน์ในการวางแผนส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป” นพ.สุระ กล่าว 

 

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับการคัดกรองผู้สูงอายุในชุมชนนั้น อสม. 1 คน (หมอคนที่ 1) จะให้บริการคัดกรองผู้สูงอายุ 10 คน เมื่อออกค้นหา ดำเนินการคัดกรองแล้ว อสม.จะบันทึกข้อมูลประวัติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและผลการคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุในแอปพลิเคชัน “Smart อสม.” หากพบความผิดปกติ จะทำการส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (หมอคนที่ 2) ทำการคัดกรองเชิงลึก หากพบว่าผิดปกติ ดำเนินการส่งต่อหมอเวชปฏิบัติ (หมอคนที่ 3) เพื่อทำแผนการดูแลรายบุคคลต่อไป ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่พบความผิดปกติ อสม.จะให้ความรู้ เรื่องการป้องกันและส่งเสริมในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุด้วยตนเอง นอกจากนี้แล้ว อสม. ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะต้องเข้ารับการคัดกรองสุขภาพด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพของตนเองให้แก่ประชาชนต่อไป