ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐฯ ประกาศเตรียมรวมพลเครือข่ายพนักงานและลูกจ้าง สธ. สายแบคออฟฟิศเขตสุขภาพละ 300 คน บุกกระทรวงสาธารณสุข ร้อง “อนุทิน” ขอเห็นใจช่วยเหลือคนทำงาน 6 ข้อเสนอ ทั้งค่าตอบแทน เงินเสี่ยงภัยโควิดได้แค่ 1 เดือน ล่าช้ากว่าสายวิชาชีพทั้งที่ทำงานโควิดเหมือนกัน ลั่นรวมตัวครั้งนี้ไม่กระทบบริการประชาชน

 

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566  นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามขวัญกำลังใจแก่เครือข่ายพนักงานและลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ หรือแบคออฟฟิศ ว่า  เครือข่ายพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) และลูกจ้างสายสนับสนุน ทั้งลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ(รายวัน-รายเดือน) จะรวมตัวกันมายื่นข้อเรียกร้องถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เช้าของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเรียกร้อง 4 ข้อเดิม และข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ โดย 4 ข้อเดิม ได้แก่

1.ขอให้ พกส.สายสนับสนุนบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณจากการกระทรวงการคลังโดยตรง ไม่ใช่เงินบำรุงของ รพ. ทำให้ไม่มั่นคงในการจ้างงาน ถูกกดขี่ค่าจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องปรับเงินเดือนประจำปี

2.ขอให้ สธ.ยกเลิกสัญญาการจ้างระยะสั้น 4 ปีของ พกส.ที่ไม่มีความมั่นคง ให้ปรับระบบสัญญาจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ โดยรอบปีที่ผ่านมามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมที่ให้ปรับลดสัญญาจ้างจาก 4 ปีเหลือ 1 ปี ทั้งที่มีระเยียบ พกส.รองรับ อาจมีการกระทำซ้ำในอนาคต 

3.ขอให้ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงแบบลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการของ สธ.ทั้งหมด ขอให้ปรับเข้าสู่ระบบการจ้างงานเป็น พกส.ทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการทำงานและสวัสดิการให้มีลูกจ้าง สธ.เพียงสายงานเดียว คือ พกส.

4.ขอให้ พกส.และลูกจ้างฯ ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ เพราะมีความเสี่ยงเหมือนเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่นกัน

ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมมี 2 ข้อ ได้แก่ 1.ค่าตอบแทนและค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง ซึ่งปัจจุบันได้รับน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 332 บาท ได้ค่าจ้างล่วงเวลาน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เฉลี่ย 300 บาท จริงๆควรได้ขั้นต่ำเท่าค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่หรือ  และ 2.ค่าเสี่ยงภัยโควิดของสายสนับสนุน ปัจจุบันได้กันแค่ 1 เดือน แต่สายวิชาชีพกลับได้กันครบ เหตุเพราะทางกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า เป็นเงินคนละงบประมาณ โดยค่าเสี่ยงภัยของสายวิชาชีพได้จากงบเงินกู้ แต่สายสนับสนุนเป็นงบประมาณ ซึ่งไม่เพียงพอ ตรงนี้เป็นการแบ่งแยกหรือไม่

“เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่สายสนับสนุนกลับต้องได้รับค่าเสี่ยงภัยช้าสุด ทั้งๆที่ทำงานมาพร้อมกันช่วงโควิด พนักงานและลูกจ้างสายสนับสนุนได้เงินเดือนกันอยู่ที่เดือนละ 7-9 พันบาท หลายคนไม่ถึงหมื่นบาท ก็รอว่าจะได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดมาจ่ายหนี้จ่ายสิน เพราะช่วงโควิดทำอาชีพเสริมก็ไม่ได้ พอจะได้ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ กลายเป็นต้องรอไม่มีจุดหมาย เรื่องนี้เข้าใจว่า ท่านอนุทิน ไม่ทราบในรายละเอียด จึงอยากให้ท่านกรุณาและช่วยเหลือ” นายโอสถ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์จะมากันจำนวนเท่าไหร่ จะกระทบต่อการบริการประชาชนหรือไม่ นายโอสถ กล่าวว่า ไม่กระทบประชาชน เพราะจะเป็นตัวแทนมาเรียกร้อง ซึ่งปัจจุบันลูกจ้างสายสนับสนุนมีกว่า 1 แสนคนกระจายในรพ.ทุกระดับของกระทรวงฯ ก็จะเป็นตัวแทนมา เฉลี่ยเขตสุขภาพละ 300 คน แต่เราจะเน้นไม่ให้กระทบบริการประชาชนเป็นสำคัญ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.แจงค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดบุคลากรนอกสังกัด ให้หน่วยงานรวบรวมข้อมูลส่งของบกลางภายในวันที่ 9 ม.ค.นี้ )

แฟ้มภาพเก่า

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org