ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคนัดหารือผู้เกี่ยวข้อง ถกปมถอดหน้ากากเด็กเล็ก หลัง “นพ.ยง”  เผยไม่จำเป็นต้องใส่ เหตุเชื้อไม่รุนแรง และเด็กติดโควิด ร่วมกับฉีดวัคซีนเยอะ มีภูมิคุ้มกัน อธิบดีคร.เผยหากหารือได้ข้อมูลวิชาการพร้อมออกเป็นคำแนะนำต่อไป  ขณะเดียวกันแนะฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น 2 เข็มต่อปีในกลุ่มเสี่ยง ส่วนคนทั่วไปขึ้นอยู่กับความจำเป็น

จากกรณี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า เด็กเล็กอนุบาล ถึงประถมตอนต้นไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะส่วนใหญ่ติดโควิดแล้ว 80% และได้รับวัคซีนแล้วส่วนหนึ่ง ทำให้มีภูมิต้านทาน ประกอบกับแม้มีโอกาสติดเชื้อ แต่อาการไม่รุนแรงนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า  ขณะนี้ได้มอบให้นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) และกองโรคติดต่อฯ นัดหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะประเด็นนี้มีข้อห่วงใยว่า อาจกระทบต่อพัฒนาการ ต่อสุขภาพจิตของเด็กหรือไม่ จึงให้นัดหารือกับทางกรมสุขภาพจิต อนามัยแม่และเด็ก และอาจารย์ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือกัน และหากมีข้อมูลทางวิชาการอย่างไร ก็จะออกเป็นคำแนะนำออกมา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มกระตุ้นของไทยในประชาชนควรเป็นกี่เข็ม  นพ.ธเรศ กล่าวว่า เบื้องต้นคาดการณ์ว่า ลักษณะเชื้อโควิดคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ โดยให้มีการฉีดกระตุ้นปีละ 1 เข็ม แต่ในส่วนของโควิด ยังคงให้ฉีดปีละ 2 เข็ม เน้นฉีดกระตุ้นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 เป็นกลุ่มที่เตรียมวัคซีนให้เพียงพอ โดยให้ 2 เข็มต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังเตรียมเผื่อบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยเฉพาะกลุ่มด่านหน้า หรือผู้ประกอบการ ที่รับนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็มีเตรียมให้เช่นกัน

เมื่อถามว่ากรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์จุฬาฯ บอกว่าคนทั่วไปไม่ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 3- 4 เข็ม เพราะมีงานวิจัยจากสหรัฐว่า มีผลต่อภูมิคุ้มกันระยะยาว นพ.ธเรศ กล่าวว่า  จริงๆการฉีดวัคซีนเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มเสี่ยง แต่คนทั่วไปหากกังวล หรือมีความจำเป็นก็เตรียมไว้ให้ได้เช่นกัน ส่วนเรื่องผลกระทบใดๆ ทางกรมควบคุมโรคมีการติดตามกระบวนการเรื่องฉีดวัคซีน มีคณะกรรมการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน มีคณะกรรมการติดตามผลข้างเคียงยังทำงานอยู่ ขณะนี้ไม่เห็นผลที่ต้องตื่นตระหนกอย่างไร  อีกทั้ง ตามคำแนะนำในกลุ่มเสี่ยงแนะนำให้ฉีดวัคซีน ทั้ง 608 หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก หรือกลุ่มที่มีโอกาสสัมผัสสูง บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข ผู้ทำงานตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น ส่วนกลุ่มอื่นๆ ให้ทำตามความสมัครใจ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org