ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ดราม่าซื้องานวิจัยไม่จบ!! หมอรามาฯ แฉบริษัทบุหรี่ซื้องานวิจัยทั้งเล่มเพื่อเชียร์บุหรี่ไฟฟ้า แถมจ้างนักวิชาการ นักการเมือง ออกข่าวชี้นำ วอนรัฐบาล กรมสรรพสามิต ไม่อ้างอิงงานวิจัยสีเทาใช้กำหนดนโยบายไทย 

เมื่อวันที่13 ม.ค. 65 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีข่าวการซื้องานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทยว่า การซื้องานวิจัยไม่ใช่มีแต่กรณีที่นำมาขอตำแหน่งวิชาการหรือเพิ่มชื่อเสียงให้กับตัวเอง แต่ยังมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น กรณีบริษัทบุหรี่ที่มีประวัติการสนับสนุนและแทรกแซงงานวิจัย รวมทั้งซื้อวารสารการแพทย์ชั้นนำให้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ตนเองสนับสนุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเมื่อปี 2564 บริษัทบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อดังจ่ายเงินให้วารสาร the American Journal of Health Behavior เป็นเงิน 51,000 ดอลล่าร์ เพื่อซื้อวารสารทั้งฉบับให้ตีพิมพ์บทความและงานวิจัยรวม 11 เรื่อง ที่บริษัทสนับสนุนเพื่อเชียร์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าโดยอ้างประโยชน์ต่อสุขภาพ การลดอันตรายจากยาสูบ (harm reduction) และช่วยเลิกบุหรี่แบบมวน รวมทั้งจ่ายเงินให้กับวารสาร 6,500 ดอลล่าร์ เพื่อให้เปิดการเข้าถึงเป็นแบบสาธารณะที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาอ่านได้

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้มีนักวิชาการไทยอย่างน้อย 2 คน ออกมาให้ข่าวสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และอ้างถึงหลักการลดอันตราย เพื่อเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำกว่าบุหรี่มวน โดยอ้างผลการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งรายงานที่ถูกนำมาอ้าง จัดทำโดยองค์กรที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ และมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่เคลื่อนไหวให้รัฐบาลไทยยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เช่น รายงานเรื่อง “optimal taxation of cigarettes and e-cigarettes” สนับสนุนโดย the Reason Foundation เป็นองค์กรที่มีประวัติการรับเงินจากบริษัทบุหรี่มายาวนาน  และมักจะเขียนบทความ รายงานที่เป็นประโยชน์กับบริษัทบุหรี่ หรือรายงาน “vapor products, harm reduction, and taxation” จัดทำโดย International Center for Law & Economics ที่มีผู้บริหารเคยทำงานให้องค์กรที่มีประวัติรับเงินจากบริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เช่น TechFreedom และ R Street Institute 

“อยากฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่มีข่าวว่าจะกำหนดพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ในการจับกุม/ปราบปรามผู้ที่ลักลอบในการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้พิจารณารายงาน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบ และไม่นำงานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่หรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่มาใช้อ้างอิง เพื่อการกำหนดนโยบายของไทย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ตัวอย่างประเทศที่มีการกำหนดพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ ที่ไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า พฤติกรรมการซื้องานวิจัยของบริษัทบุหรี่มีมาตั้งแต่อดีต โดยการดำเนินการเป็นขั้นตอน 1.สนับสนุนทุนให้นักวิจัยทำการวิจัย โดยมีการแทรกแซงให้ผลการวิจัยออกมาในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ  2.ซื้อพื้นที่วารสารวิชาการเพื่อนำงานวิจัยที่บริษัทสนับสนุนลงตีพิมพ์และเผยแพร่สู่สาธารณะ 3.จ้างนักวิชาการ นักการเมือง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงให้พูดถึงงานวิจัยในเวทีต่าง ๆ รวมทั้งออกข่าวเพื่อชี้นำนโยบาย 4.จ้างกลุ่มองค์กรบังหน้าให้ออกมาโจมตี ดิสเครดิตนักวิชาการอื่น ๆ ที่แสดงความเห็นวิจารณ์งานวิจัยที่บริษัทบุหรี่สนับสนุน และดิสเครดิตงานวิจัยที่จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ ทั้งนี้ ขอให้นักวิชาการไทยได้รับทราบถึงมาตรา 35  ของพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560  ที่ห้ามบริษัทบุหรี่หรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้การอุปถัมภ์รวมทั้งทุนวิจัยแก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอันจะนำไปสู่การแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org