ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สหภาพลูกจ้างของรัฐฯ ประชุมหารือก่อนเดินทางขอเข้าพบ “อนุทิน” เรียกร้องความเป็นธรรมสิทธิสวัสดิการลูกจ้างชั่วคราว 56 สายงานปฏิบัติในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งระบบการจ้าง ค่าเสี่ยงภัย ค่าตอบแทน โดยเฉพาะเงินเสี่ยงภัยโควิดล่าช้ามาก ทั้งที่ทำงานโควิดไม่แตกต่างวิชาชีพอื่น ขอโทษบุคลากรในกระทรวงฯ การเรียกร้องอาจกระทบจราจร แต่ย้ำไม่กระทบบริการปชช.

 

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามขวัญกำลังใจแก่เครือข่ายพนักงานและลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ หรือแบคออฟฟิศ ว่า ตัวแทนสหภาพลูกจ้างของรัฐฯ หรือ สลท. ทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ที่จังหวัดลำปาง เพื่อสรุปข้อเรียกร้องก่อนเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในช่วงเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยจะมีตัวแทนจากทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศเดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุขในวันดังกล่าว

การเดินทางมาครั้งนี้ขอยืนยันจะไม่กระทบต่อการให้บริการประชาชนอย่างแน่นอน เนื่องจากพวกเราส่งตัวแทนมาหารือและขอความช่วยเหลือท่านอนุทิน โดยมีอีกส่วนที่ให้บริการอยู่ ซึ่งลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ จะมีทั้งลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ(รายวัน-รายเดือน) มีทั้งหมด 56 สายงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกว่า 1.4 แสนคน  เช่น พนักงานขับรถยนต์ พนักงานผู้ป่วยเหลือคนไข้ ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานเปล พนักงานบัตรรายงานโรค พนักงานห้องเอกซเรย์ พนักงานวิทยาศาสตร์ (ห้องปฏิบัติการ) พนักงานประจำห้องยา พนักงานช่าง เป็นต้น ซึ่งหากลูกจ้างที่จะเข้าร่วมเรียกร้องขอให้มาร่วมได้ในวันเวลาดังกล่าว หรือติดต่อมาที่สหภาพฯได้ ” นายโอสถ กล่าว

นายโอสถ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องยังเป็น 4 ข้อเรียกร้องเดิม และ 2 ข้อเรียกร้องเพิ่มเติม  ประกอบด้วย  4 ข้อเรียกร้องเดิม คือ

1.ขอให้ พกส.สายสนับสนุนบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณจากการกระทรวงการคลังโดยตรง ไม่ใช่เงินบำรุงของ รพ. ทำให้ไม่มั่นคงในการจ้างงาน ถูกกดขี่ค่าจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องปรับเงินเดือนประจำปี

2.ขอให้ สธ.ยกเลิกสัญญาการจ้างระยะสั้น 4 ปีของ พกส.ที่ไม่มีความมั่นคง ให้ปรับระบบสัญญาจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ โดยรอบปีที่ผ่านมามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมที่ให้ปรับลดสัญญาจ้างจาก 4 ปีเหลือ 1 ปี ทั้งที่มีระเยียบ พกส.รองรับ อาจมีการกระทำซ้ำในอนาคต 

3.ขอให้ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงแบบลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการของ สธ.ทั้งหมด ขอให้ปรับเข้าสู่ระบบการจ้างงานเป็น พกส.ทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการทำงานและสวัสดิการให้มีลูกจ้าง สธ.เพียงสายงานเดียว คือ พกส.

4.ขอให้ พกส.และลูกจ้างฯ ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ เพราะมีความเสี่ยงเหมือนเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่นกัน

ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมมี 2 ข้อ ได้แก่ 1.ค่าตอบแทนและค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง ซึ่งปัจจุบันได้รับน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 332 บาท ได้ค่าจ้างล่วงเวลาน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เฉลี่ย 300 บาท จริงๆควรได้ขั้นต่ำเท่าค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่หรือ  และ 2.ค่าเสี่ยงภัยโควิดของสายสนับสนุน ปัจจุบันได้กันแค่ 1 เดือน แต่สายวิชาชีพกลับได้กันครบ เหตุเพราะทางกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า เป็นเงินคนละงบประมาณ โดยค่าเสี่ยงภัยของสายวิชาชีพได้จากงบเงินกู้ แต่สายสนับสนุนเป็นงบประมาณ ซึ่งไม่เพียงพอ ตรงนี้เป็นการแบ่งแยกหรือไม่

“ลูกจ้างสายสนับสนุน เราได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยช้ามาก ทั้งๆที่อีกกลุ่มได้รับเงินกันแล้ว โดยได้เหตุผลว่า เงินคนละงบประมาณ เรื่องนี้จึงต้องร้อนถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีฯ ให้รับทราบและช่วยเหลือพวกเรา แม้พวกเราจะเป็นลูกจ้าง แต่เราก็ปฏิบัติงานช่วงโควิดไม่แตกต่างจากวิชาชีพอื่นเลย” ประธานสหภาพฯ กล่าว

 นายโอสถ กล่าวว่า ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ การเดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุขช่วงเช้า อาจกระทบการจราจรต่อข้าราชการ บุคลากร และผู้สัญจรไปมาในกระทรวงฯ ต้องขออภัย ถ้าไม่ลำบากจริงๆ เราไม่ได้ต้องการให้กระทบการจราจร หากได้เข้าพบโดยเร็ว และมีการหารือผ่านไปได้ พวกตนก็จะไม่อยู่นาน เพื่อลดผลกระทบต่อการเดินทางภายในกระทรวงฯ ให้มากที่สุด

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-“ลูกจ้าง - พนักงานกระทรวงสาธารณสุข” ร้องพรรครวมไทยสร้างชาติ ขอช่วยผลักดันความก้าวหน้าสายสนับสนุน 56 สายงาน

-สธ.เตรียมของบกลาง 7.1 พันล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดค้างจ่ายและค่ารักษากลุ่มไร้สิทธิ

 ภาพจากสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org