ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดข้อมูลโรงพยาบาลสังกัด สธ.  3 ขนาด ทั้งระดับ A ระดับ S และระดับ M1  รวม 65 แห่ง พบปัญหาชั่วโมงการทำงานแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ปฏิบัติงานเกิน 46-52 ชั่วโมง/สัปดาห์มากสุด 18 แห่ง เร่งแก้ไขภายใน 1 ปี ขณะที่ทำงานเกิน 64 ชม./สัปดาห์มี 9 แห่งแก้ไขภายใน 3 เดือน  ตั้งเป้าให้เหลือชั่วโมงการทำงานมากกว่า 40-46 ชม./สัปดาห์  ล่าสุดรพ.ที่ทำงานมากกว่า 58 ชม.ต่อสัปดาห์จำนวน 13 รพ.  แก้ไขปรับปรุงชั่วโมงงานอยู่ที่มากกว่า 46 ชม./สัปดาห์ถึง 7 รพ. ภายใน 3 เดือน เร็วกว่าแผนที่กำหนด  1ปี   

 

ตามที่คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร(กมธ.การแรงงานฯ) พร้อมด้วยสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน   เข้าหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อขอความเป็นธรรมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก หรือแพทย์อินเทิร์นปี 1 ที่มีภาระงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควงเวรติดต่อกันไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า และส่วนหนึ่งลาออกจากระบบราชการ 

ล่าสุดรายงานข้อมูลจากการประชุมร่วมกันระหว่าง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กมธ.การแรงงานฯ สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งเครือข่ายพยาบาล Nurses Connect เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการติดตามแนวทางการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานบุคลากรฯ หลังจากมีการหารือร่วมกันไปแล้วครั้งที่ 1  โดยผู้แทน สธ.  มีสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กองบริหารทรัพยากรบุคคล ฯลฯ นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานแพทย์  ซึ่งได้เสนอสถานการณ์กำลังคนสายงานแพทย์ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2565 ที่ดำรงตำแหน่ง 20,288 อัตรา  และข้อมูลข้าราชการลาศึกษาจำนวน 4,040 ราย

โดยข้อมูลข้าราชการลาศึกษา จำนวน 4,040 ราย เป็นข้าราชการลาศึกษาหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านจำนวน 3,891 ราย และอีก 149 ราย เป็นข้าราชการลาศึกษาในหลักสูตรอื่นๆ

สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะอย่างเป็นรูปธรรม โดยจำนวนโรงพยาบาลที่แพทย์ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ จำนวน 65 แห่ง คิดเป็น 55.56% จาก 117 แห่งที่เป็นสถาบันฝึกเพิ่มพูนทักษะ โดยการสำรวจครั้งนี้แบ่งโรงพยาบาลออกเป็นขนาด A (รพ.ศูนย์) จำนวน 21 แห่ง รพ. ขนาด S (รพ.ทั่วไปขนาดใหญ่) จำนวน 15 แห่ง   และรพ.ขนาด M1 (รพ.ทั่วไปขนาดเล็ก) จำนวน 29 แห่ง รวมทั้งหมด 65 แห่ง

โดยแผนการแก้ไขปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานตามขนาด รพ.  รวม 65 แห่ง  ตั้งเป้าให้เหลือชั่วโมงการทำงานมากกว่า 40-46 ชั่วโมง/สัปดาห์  โดยรายละเอียด แบ่งออกดังนี้ 

1.ชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 40-46 ชม./สัปดาห์  พบมี รพ.ขนาด A มี 5 แห่ง  รพ.ขนาด S มี 12 แห่ง และ รพ.ขนาด M1 มี 6 แห่ง รวม 23 แห่ง ซึ่งกระจายตามเขตสุขภาพต่างๆ ดังนี้ เขตสุขภาพที่ 1 มี 6 แห่ง เขตสุขภาพที่ 2 จำนวน 2 แห่ง เขตสุขภาพที่ 4 มี 2 แห่ง เขตสุขภาพที่ 5 มี 3 แห่ง เขตสุขภาพที่ 6 มี 2 แห่ง เขตสุขภาพที่ 7 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 8 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 9 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 11 มี 2 แห่ง และเขตสุขภาพที่ 12 มี 3 แห่ง

2.ชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 46-52 ชม./สัปดาห์  พบมี รพ.ขนาด A มี 10 แห่ง  รพ.ขนาด S มี 4แห่ง และ รพ.ขนาด M1 มี 4 แห่ง รวม 18 แห่ง  ซึ่งกระจายตามเขตสุขภาพต่างๆ ดังนี้ เขตสุขภาพที่ 1 มีจำนวน 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 4 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 5 มี 2 แห่ง  เขตสุขภาพที่ 6 มี 4 แห่ง เขตสุขภาพที่ 7 มี 2 แห่ง เขตสุขภาพที่ 8 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 9 มี 4 แห่ง เขตสุขภาพที่ 11 มี 1 แห่ง และเขตสุขภาพที่ 12 มี 2 แห่ง 

** ทั้งนี้  ตั้งเป้าแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 1 ปี

3.ชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 52-58 ชม./สัปดาห์  พบมี รพ.ขนาด A มี 1 แห่ง  รพ.ขนาด S มี 8แห่ง และ รพ.ขนาด M1 มี 2 แห่ง รวม 11 แห่ง  ซึ่งกระจายตามเขตสุขภาพต่างๆ ดังนี้  เขตสุขภาพที่ 2 มีจำนวน 2 แห่ง  เขตสุขภาพที่ 3 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 4 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 5 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 6 มี 2 แห่ง เขตสุขภาพที่ 9 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 11 มี 1 แห่ง และเขตสุขภาพที่ 12 มี 2 แห่ง  

**ทั้งนี้  ตั้งเป้าแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 9 เดือน

4.ชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 59-63 ชม./สัปดาห์  พบมี รพ.ขนาด A มี 1 แห่ง  รพ.ขนาด S มี 2แห่ง และ รพ.ขนาด M1 มี 1 แห่ง รวม 4  แห่ง ซึ่งกระจายตามเขตสุขภาพต่างๆ ดังนี้  เขตสุขภาพที่ 2 มีจำนวน 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 6 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 9 มี 1 แห่ง และเขตสุขภาพที่ 11 มี 1 แห่ง

**ทั้งนี้ ตั้งเป้าแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 6 เดือน

5.ชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 64 ชม./สัปดาห์  พบมี รพ.ขนาด A มี 4 แห่ง  รพ.ขนาด S มี 3 แห่ง และ รพ.ขนาด M1 มี 2  แห่ง รวม 9  แห่ง ซึ่งกระจายตามเขตสุขภาพต่างๆ ดังนี้  เขตสุขภาพที่ 3 มีจำนวน 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 5 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 6 มี 2 แห่ง เขตสุขภาพที่ 8 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 10 มี 1 แห่ง เขตสุขภาพที่ 11 มีจำนวน 2 แห่ง และเขตสุขภาพที่ 12 มี 1 แห่ง

**ทั้งนี้ ตั้งเป้าแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 3 เดือน

 

สำหรับแผนการพัฒนาระบบการดูแลแพทย์เพิ่มพูนทักษะ

ระยะสั้น กำหนดให้ รพ.ทุกแห่งที่สถาบันฝึกเพิ่มพูนทักษะดำเนินการ ดังนี้

-ทบทวนชั่วโมงการทำงานและเวลาพักผ่อนของแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ทำงานในต่อเนื่องเกิน 24 ชั่วโมง จะต้องมีเวลาพักในวันรุ่งขึ้น

-ลดชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการไม่ให้มากกว่า 46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ภายใน 12 เดือน โดยสถาบันฝึกเพิ่มพูนทักษะที่มีชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 58 ชั่วโมงขึ้นไป จะต้องลดเวลาให้น้อยลง ภายใน 3 เดือน

ระยะยาว

-กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนจำนวนแพทย์ และการกระจายที่เหมาะสมกับการจัดบริการ

-จัดทำแผนพร้อม action plan เรื่อง work life balance ของทุกวิชาชีพในทุกองค์กรโดยใช้หลัก 4T (Trust, Teamwork&Talent, Technology, Target) ทำให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น มีสมดุลชีวิตกับการทำงาน ปรับตัวยืดหยุ่นได้ในภาวะวิกฤต ทำงานเป็นทีมโดยมีเป้าหมายและค่านิยมร่วมกัน เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของ 65 รพ.ที่มีชั่วโมงการทำงานเกิน 40 ชม.ต่อสัปดาห์ ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงชั่วโมงการทำงานนอกเวลาแล้ว และรายงานผล 44 รพ. โดยรพ.ที่มีชั่วโมงการทำงานมากกว่า 58 ชม.ต่อสัปดาห์จำนวน 13 รพ. สามารถแก้ไขปรับปรุงชั่วโมงการปฏิบัติงานให้ลดลงจากเดิมมากกว่า 46 ชม.ต่อสัปดาห์ได้ถึง 7 รพ. ภายใน 3 เดือนเร็วกว่าแผนที่กำหนด(แผน 1ปี)  รพ.ที่มีชั่วโมงการปฏิบัติงานน้อยกว่า 58 ชม.ต่อสัปดาห์ บางรพ.สามารถแก้ไขปรับปรุงชั่วโมงการทำงานได้เร็วกว่าแผนเช่นกัน

“ ในที่ประชุมได้แจ้งว่า คณะทำงานจะมีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการของแพทย์ ทุกไตรมาส โดยในแต่ละกลุ่มจะต้องมีการแปลี่ยงแปลงไปในทางที่ดีขึ้น..”

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org