ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ คนใหม่ไฟแรง เดินหน้าภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เผยทิศทางการพัฒนาปี 66 พลิกโฉมแนวคิดการทำงานรูปแบบใหม่ มั่นใจเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบสาธารณสุขไทย

โรคกระดูกและข้อจัด เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก จากอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคข้อเสื่อมที่เป็นสาเหตุอันดับสี่ของโรคนับตามจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่กับความพิการ ผลกระทบหลัก ๆ ไม่ได้มีเพียงมิติสาธารณสุข และคุณภาพชีวิตประชากร แต่ยังส่งผลไปถึงมิติเศรษฐกิจ  ดังนั้น การดูแลแก้ไขปัญหาโรคกระดูกและข้อ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของประเทศไทย

ในฐานะผู้บริหารคนล่าสุดขององค์กรที่มีบทบาทหน้าที่เชื่อมประสานองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษากลุ่มโรคกระดูกและข้อ สู่องค์กรวิชาชีพอื่น ตลอดจนเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เผยถึงวิสัยทัศน์และภารกิจในการดูแลป้องกันโรคกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยสุขภาพดีทุกช่วงวัย

“คำว่า ‘ออร์โธปิดิกส์’ (Orthopedics) หมายถึงศาสตร์การดูแลผู้ป่วยโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขรักษากระดูกและข้อต่าง ๆ ที่มีลักษณะโก่งหรือผิดรูป แตกหัก ครอบคลุมไปถึงความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูกสันหลัง ในร่างกายมนุษย์จะมีกระดูกที่เป็นแกนหลัก ในการขับเคลื่อนแกนกระดูกที่เป็นแกนหลักให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ต้องอาศัยข้อต่อ การขับเคลื่อนของข้อต่อก็จำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจะทำงานได้ก็ต้องใช้ระบบเส้นประสาท กระบวนการทั้งหมดทำให้มนุษย์สามารถควบคุมบังคับตัวเองได้ เรียกรวม ๆ ว่า ‘ระบบของกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ และระบบเส้นประสาท’ หากมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่สามารถใช้ชีวิตตามกิจวัตรประจำวันได้ เป้าหมายและหน้าที่ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ คือ จะต้องทำการรักษาซ่อมแซมให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม”

ศ.นพ.กีรติ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคทางออร์โธปิดิกส์ในปัจจุบันว่า มีปริมาณมากขึ้น มาจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นวัยที่มีความเสื่อมของร่างกายมากกว่าวัยอื่น ๆ โดยเฉพาะความเสื่อมของอวัยวะที่มีผลต่อการใช้ชีวิต อย่างข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง จนถึงกระดูกข้อต่อต่าง ๆ หากเป็นเพศหญิงก็ต้องเผชิญกับภาวะกระดูกบางมากกว่าเพศชาย จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์เช่นกัน ที่ต้องหาแนวทางทำให้ความเสื่อมนั้นชะลอลง ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมาน และไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรสำหรับการรักษา

 

“ปัจจุบัน สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย มีสมาชิกซึ่งเป็นแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วประเทศจำนวนกว่า 3,000 คน ดูแลพี่น้องประชาชนกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้วิชาออร์โธปิดิกส์ ถ่ายทอดจากแพทย์สู่แพทย์ รวมถึงจากแพทย์ออร์โธปิดิกส์ต่อแพทย์สาขาอื่น ๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน ในด้านประชาชนก็ต้องให้ความรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยทางด้านข้อกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทในทุกช่วงวัย”

จัดประชุมวิชาการทั่วประเทศ-สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เผยถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายที่ดูแลระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะในด้านของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และระบบเส้นประสาท ที่จะมีการส่งต่อความรู้กันในชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ

“การดำเนินการของสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยในปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในลำดับแรก คือ การเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ นำร่องด้วยการจัดประชุมวิชาการใน 3 จังหวัด เริ่มจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ในเดือนมกราคม โรงพยาบาลปัตตานี ในเดือนมิถุนายน และสุดท้ายโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ในช่วงปลายปีประมาณเดือนพฤศจิกายน”

“การจัดประชุมวิชาการจะช่วยให้ประชาชนได้รับความรู้ในการดูแลป้องกันโรคกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท เช่น การเกิดภาวะข้อเสื่อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม ปวดหลัง หรือกระทั่งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ข้อไหล่หลุด หรือกล้ามเนื้อฉีกขาด หรือโรคของคนทำงาน อย่างออฟฟิศ     ซินโดรม ขณะเดียวกันจะมีการจัดทำสื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท พร้อมกับหาช่องทางเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง”

แผนงานสุดท้าย จะเป็นการเร่งสร้างสังคมผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วประเทศ ในกลุ่มโรคเดียวกัน เช่น โรคของกระดูกสันหลัง โรคเนื้องอกในกระดูก โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน โรคออฟฟิศซินโดรม โรคทางนิ้ว โดยเฉพาะโรคกระดูกคอเสื่อมซึ่งพบได้บ่อยในปัจจุบัน เมื่อมีสังคมของคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกัน จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ชี้ไทยเป็นอันดับหนึ่งการรักษาออร์โธปิดิกส์

ศ.นพ.กีรติ กล่าวถึงความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ไทยโดยเฉพาะสาขาออร์โธปิดิกส์นั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค มีองค์ความรู้หลายเรื่องเกิดจากความชำนาญของแพทย์ไทย เช่น ผ่าตัดแล้วจะลดความเจ็บปวดหรือสูญเสียเลือด ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดเป็นต้นแบบที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ได้ดำเนินตาม

“ออร์โธปิดิกส์เป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีในการรักษา เช่น กระดูกเทียมชิ้นใหญ่ วัสดุโลหะ  อัลลอยด์ 3 มิติ สำหรับรักษาโรคมะเร็งในกระดูก รวมไปถึงความเชี่ยวชาญและชำนาญของศัลยแพทย์ เทคโนโลยีของการรักษาคนไข้จึงเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตเองได้หรือไม่ ซึ่งในเวลานี้ โลหะทดแทนกระดูกเฉพาะบุคคล เราทำได้แล้ว”

“สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย พร้อมที่จะก้าวเป็นผู้นำและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ด้วยการสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด”

กล้ามเนื้อสร้างได้ทุกวัย วิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ

แม้ออร์โธปิดิกส์จะเป็นโรคที่ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมและความผิดปกติในร่างกาย แตกต่างไปจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ก็สามารถดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำทิ้งท้ายว่า

“เซลล์อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะมีความเสื่อมทุกวินาที ไม่ว่าจะเป็นเซลล์สมอง เซลล์หัวใจ แต่มีเพียงอย่างเดียวที่สามารถสร้างให้กลับมาทำงานได้และดีขึ้นกว่าเดิมก็คือกล้ามเนื้อ ที่สำคัญกล้ามเนื้อช่วยให้คนสามารถทรงตัวและเดินอย่างสมดุล และยังนำมาซึ่งความแข็งแรงของระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบไหลเวียนของโลหิต ระบบออกซิเจนที่จะไปดูแลเซลล์สมอง เซลล์หัวใจ ช่วยทำให้เซลล์กระดูกสามารถดูดซึมแคลเซียมได้มากขึ้น”

“ก่อนที่ร่างกายเราจะเสื่อมจนดูแลตัวเองไม่ได้ แนะนำให้ทุกคนดูแลใส่ใจร่างกายให้แข็งแรงที่สุด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อจะแข็งแรงได้นั้นต้องมีการใช้งานออกแรงอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอง่าย ๆ คือ เดินอย่างน้อยวันละ 15-20 นาที รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีความสมดุลทั้ง 3 อย่างนี้ จะส่งผลให้ระบบอื่น ๆ ในร่างกายดีตามมา คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นอย่างแน่นอน”

สามารถติดตาม ข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้ที่ เว็บไซต์ http://toa.or.th/    และLINE OA : @toathai

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง