ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ เปิดงาน "Modern NIT มิติใหม่การบริการทางการแพทย์" ชูเทคโนโลยีทางการแพทย์ เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วย สถาบันประสาทวิทยา โชว์การรักษาคนไข้พาร์กินสัน ด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า หรือ DBS  อีกทางเลือก จากเดิมเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุก 3-5 ปี เป็นเปลี่ยนแบตฯ เมื่อครบ 15 ปี ปัญหายังไม่รองรับผู้ป่วยบัตรทอง-ประกันสังคม เดินหน้าเสนอบอร์ด สปสช.พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในอนาคต ขณะที่สิทธิข้าราชการเบิกได้แต่มีเงื่อนไข

 

“เทคโนโลยี เปลี่ยนชีวิต...” ประโยคนี้ไม่ได้ดูเกินจริง... แต่กลับช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างเหลือเชื่อ.... เห็นได้จากสถาบันประสาทวิทยา อีกหนึ่งสถาบันเชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้านระบบประสาทที่นำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้รักษาผู้ป่วยให้กลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566   ที่สถาบันประสาทวิทยา เปิดงาน "Modern NIT มิติใหม่การบริการทางการแพทย์" โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน โดยภายในงานได้ชูเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชัน SMART OPD, NIT Plus  การใช้เทคโนโลยี Telemedicine การสร้างเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วประเทศ  การผ่าตัดโรคลมชักและโรคสมองอื่นๆ ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด  ผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองในผู้ป่วยพาร์กินสัน โรคระบบประสาทการเคลื่อนไหวผิดปกติและโรคลมชัก ฯลฯ

โดย นพ.ธงชัย กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ให้การสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยาในการพัฒนาเทคโนโลยีรักษาผู้ป่วยมาโดยตลอด รวมไปถึงให้มีการชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ และการเข้าถึงการเบิกจ่ายค่าบริการรักษาพยาบาลโรคหลอดเลือดสมองด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือด  จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติสำหรับการรักษาโรคสมอง ไขสันหลังและโรคระบบประสาทที่ไม่สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ รวมไปถึง การพัฒนาแอปพลิเคชัน NIT Plus ที่ผู้ป่วยสามารถจ่ายยาผ่านแอปฯ ได้และจัดส่งยาผ่านไปรษณีย์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของผู้ป่วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะสังกัดกรมการแพทย์  

"โรคสมองเจ็บแต่ไม่จบ แต่หากได้รับการดูแลที่ถูกต้อง สามารถเจ็บและจบได้กว่า 80% ที่ไม่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต" นพ.ธงชัย กล่าว

ทั้งนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการรักษาที่เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วย กลุ่มโรคพาร์กินสัน โรคสั่น ด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า (Deep Brain Stimulation : DBS ) โดยสถาบันประสาทวิทยาได้ทำการผ่าตัดด้วย DBS สำเร็จเป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ พ.ศ.2556 และดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา โดยหลังเข้ารับการผ่าตัดผู้ป่วยจะยังไม่หายขาด โรคยังดำเนินต่อไปแต่อาการของโรคมักดีขึ้นและความรุนแรงลดลง  

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา  กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยาพยายามผลักดันให้การรักษาโรคระบบประสาทสามารถเบิกจ่ายได้ โดยเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง  อย่างการรักษาด้วยเครื่อง DBS ปัจจุบันไม่สามารถเบิกได้ในผู้ป่วยบัตรทอง และประกันสังคม แต่สามารถเบิกได้บางส่วนเฉพาะสิทธิข้าราชการ ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป  อย่างไรก็ตาม สำหรับบางกรณีที่ยังเบิกไม่ได้ ทางสถาบันฯได้ทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสำหรับรักษาโรคทางสมอง และด้วยสถาบันฯ เป็นสถาบันวิจัย ก็จะหางบทั้งจากการบริจาค หรืองบฯสถาบันฯมารองรับคนไข้บางราย เป็นต้น

 

ขณะที่ พญ.ณัฎลดา ลิโมทัย แพทย์ชำนาญการ สถาบันประสาทวิทยา อธิบายการการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า Deep Brain Stimulation หรือ DBS ว่า ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากทำงานผิดปกติของระบบประสาทและสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสั่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาด้วยยา ซึ่งเป็นการรักษาเบื้องต้นและถือเป็นวิธีการรักษาหลักของกลุ่มโรคดังกล่าว เมื่อดำเนินการรักษาไปได้ระยะหนึ่งจะพบว่าผู้ป่วยบางกลุ่มเกิดอาการดื้อยา ส่งผลให้การรักษาไม่เกิดผลดีเท่าที่ควรรวมทั้งยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มรักษาด้วยวิธีการให้ยาไม่ได้ผลตั้งแต่แรก แพทย์ผู้ทำการรักษาจึงพิจารณาและประเมินถึงทางเลือกอื่นที่เหมาะสมตามความแตกต่างของร่างกายผู้ป่วย เช่น การใช้ยากลุ่มใหม่ๆในการรักษาพาร์กินสัน แต่หากในกรณีที่การรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ประสบผล การรักษาด้วย DBS จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้

“สมัยก่อนการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า หรือ DBS  จะใส่แบตเตอรี่ที่หน้าอก 2 ข้าง แต่ปัจจุบันเราพัฒนาว่า สมองสองข้างใส่แบตเตอรี่ข้างเดียวสามารถทำได้ และตัวแบตฯ จะมีขนาดเล็กลง บางลงเรื่อยๆ  โดยการเปลี่ยนแบตเตอรี่จากเดิมต้องเปลี่ยนทุก 3-5 ปี  แต่ขณะนี้พัฒนาให้เปลี่ยนแบตเตอรี่เมื่อครบ 15 ปี อีกทั้งสามารถชาร์ทไฟบ้านได้เองประมาณวันละ 15-20 นาที ทำทุกวัน เมื่อครบกำหนด 12-15 ปีก็ต้องมาเปลี่ยนแบตฯ ด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การชาร์ทไฟบ้านจะมีเซ็ตให้ดำเนินการเองได้ ไม่อันตรายใดๆ สามารถทำได้อย่างง่ายดาย” พญ.ณัฎลดา กล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษารวมทั้งการผ่าตัด การเปลี่ยนแบตเตอรี่ต่างๆ ราว 8 แสนบาทจนถึง 1.2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เทคโนโลยีใดระหว่างต้องเปลี่ยนแบตฯ ทุก 3-5 ปี หรือเปลี่ยนเมื่อครบ 15 ปี ซึ่งปัจจุบันมีเพียงสิทธิสวัสดิการข้าราชการเท่านั้นที่สามารถเบิกจ่ายได้ในกรณีเทคโนโลยีเปลี่ยนแบตฯ ทุก 3-5 ปี    

**ส่วนข้อห้ามของคนไข้ที่ผ่าตัดด้วยวิธีนี้ คือ  อาจต้องหลีกเลี่ยงอยู่ในสนามแม่เหล็ก อย่างการตรวจเอ็กซเรย์ MRI แต่หากจำเป็นต้องตรวจสามารถทำได้ แต่ต้องบอก เพราะจะมีวิธีในการตั้งค่าเครื่องต่างๆ  ส่วนการขึ้นเครื่องบินทำได้ ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ สถาบันฯ รักษาด้วยวิธีนี้มานานกว่า 10 กว่าปี รักษาคนไข้มาประมาณ 30-40 ราย เฉลี่ยปีละ 7-8 ราย ซึ่งทุกคนปกติดี  ลดยาได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถออกกำลังกาย ว่ายน้ำได้ไม่มีผลต่อระบบไฟฟ้า   

“ข้อจำกัดสำคัญของคนไข้ที่ไม่ควรรักษาด้วยวิธีนี้ คือ คนไข้ที่เป็นพาร์กินสันเป็นเวลานาน เนื่องจากจะมีปัญหาความจำไม่ค่อยดี ตรงนี้จะเป็นข้อห้ามในการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดคนไข้จะตื่นตลอด หากความจำไม่ดีก็อาจมีปัญหาได้ เพราะต้องมีการประเมินคนไข้ ทั้งนี้ ที่ต้องให้คนไข้ตื่นตลอดเวลา เพราะต้องเชื่อมกับระบบประสาทด้วย คนไข้ต้องให้ความร่วมมือตลอด การผ่าตัดก็จะมีการฉีดยาชา เป็นต้น แต่ทั้งหมดไม่ต้องกังวล ขั้นตอนการรักษามีความปลอดภัยสำหรับกลุ่มที่ไม่มีข้อควรระวัง” พญ.ณัฎลดา กล่าว

ทั้งนี้ การรักษาด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกด้วยไฟฟ้า หรือ DBS  นอกจากรักษาผู้ป่วยพาร์กินสัน ในผู้ป่วยที่มีอาการสั่น รวมไปถึงพัฒนาไปถึงการรักษาคนไข้จิตเวชด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังรักษาพาร์กินสัน กับภาวะบิดเกร็ง  ซึ่งส่วนใหญ่อย่างการรักษาพาร์กินสันอายุเริ่มน้อยลง เคยพบตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป แต่จะไม่แนะนำในคนไข้อายุเกิน 75 ปีขึ้นไป เพราะจะมีภาวะความจำ สมองเสื่อม ซึ่งเป็นข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีนี้

“ผู้ป่วยพาร์กินสันมักพบ 1-2% ในคนไข้อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันอายุน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากความเสื่อม แต่คนอายุน้อยส่วนมากเป็นกรรมพันธุ์ โดยสามารถสังเกตอาการ อย่างมือสั่น เคลื่อนไหวช้า การเดินผิดปกติ การทรงตัวไม่ดี บางรายรุนแรงหกล้มได้  โดยส่วนใหญ๋นั่งเฉยๆจะสั่นและจะเริ่มข้างเดียว จากนั้น 2-3 ปีจะเป็นอีกข้าง ทางที่ดีควรมาตรวจดีที่สุด” พญ.ณัฎลดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิทธิการรักษา ณ ปัจจุบันการฝังด้วย DBS  ได้สิทธิเฉพาะข้าราชการ แต่เป็นระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3-5 ปี  ส่วนผู้ป่วยบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ ต้องรักษาด้วยยาเป็นหลัก  ซึ่งขณะนี้สถาบันฯ ได้ยื่นเรื่องไปยังบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานได้มีการจัดแสดงไวโอลิน เพลง เก็บตะวัน จาก ร.อ.กิตติพัฒน์ กัลลประวิทย์ ผู้ป่วยพาร์กินสันของสถาบันประสาทวิทยา ซึ่งได้รับการดูแลจนหายดี สามารถดำเนินชีวิตและเล่นดนตรีได้  ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเคยทำงานเป็นพยาบาลทหารใน รพ. ของรัฐ โดยเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งปัจจุบันอายุ 58 ปี จึงย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีอาการป่วยโรคพาร์กินสันได้เข้ารักษาใน รพ. อื่นๆ อยู่ 3-4 ปี จนกระทั่งทราบข้อมูลเทคโนโลยีการรักษาของสถาบันประสาทวิทยา จึงมารักษาที่สถาบันฯ ในปี 2559 ช่วงแรกได้รับยา และต่อมาเมื่อปี 2565 ช่วงเดือน ตุลาคม ได้เปลี่ยนมาผ่าตัดใส่เครื่องฯ  ซึ่งผ่านมา 3-4 เดือน ร่างกายสามารถฟื้นฟูกลับมาใช้งานได้ถึง 95%

“การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยผมไว้ได้มาก เหมือนผมตายแล้วเกิดใหม่ ขอบคุณสถาบันประสาทวิทยาที่ทำให้ผม สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ" ร.อ.กิตติพัฒน์ กล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org