ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 66 กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ นาวาเอกพิเศษ พ.ญ.สุพัตรา สิทธิราชา นพ.ยุทธนา ป้องโสม กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย นายเสนัชย์ ทองประดิษฐ์ เนติบัณฑิตไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย กรณี ผู้อดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิการประกันตัว

จากกรณีผู้ต้องหาคดีอาญาที่ถูกคุมขัง 3 คน ได้อดอาหารและน้ําเพื่อเป็นการประท้วง ได้แก่ นส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการ ยุติธรรม ยุติคดีทางการเมืองกับประชาชน และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ นายสิทธิโชค เศรษฐเศวต เรียกร้อง สิทธิในการประกันตัว แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวมิได้รับการตอบสนองทําให้ทั้งสามคนได้อดอาหารรวม 12 ถึง 13 วัน แล้ว จนร่างกายเข้าสู่ขั้นวิกฤติ ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือด ระดับน้ําตาลในเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างร้ายแรง หรือ ถึงแก่ชีวิตได้

กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตยเห็นว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด โดยเฉพาะผู้ต้องหาทั้งสามคน ยังมีอนาคตที่ดี สามารถสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้อีกมากมาย อีกทั้ง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ที่ผู้อดอาหารเสนอ ก็มีความสําคัญ กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตยจึงมีข้อเท็จจริง และความคิดเห็นนําเสนอ ดังนี้

1. คณะแพทย์ผู้ดูแล ควรให้การช่วยเหลือผู้อดอาหารโดยทันที 

แม้ผู้อดอาหารประท้วงจะแสดงความประสงค์ไม่รับอาหาร น้ํา และยา และยอมรับการเกิดอันตรายถึงแก่ ชีวิต แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 บัญญัติว่า “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจ ช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจําเป็น ต้องระวางโทษ..”

และ คําประกาศ สิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข และสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข ได้แก่ แพทยสภา เรื่องสิทธิผู้ป่วย ข้อ 3 บัญญัติว่า “ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือรีบด่วน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจําเป็นแก่กรณี โดยไม่ต้องคํานึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความ ช่วยเหลือหรือไม่” ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญาและคําประกาศดังกล่าว จึงบังคับให้คณะแพทย์ต้องให้การรักษา แก่ผู้อดอาหาร และกฎหมายให้ความคุ้มครองคณะแพทย์ แม้ไม่เป็นไปตามประสงค์ของผู้ป่วย

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ยังบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้น ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” เป็นความให้ความมั่นใจแก่คณะแพทย์ยิ่งขึ้นว่าจะไม่มีความผิด เนื่องจากการช่วยเหลือชีวิตของผู้อดอาหาร นอกจากการให้การรักษาพยาบาล ไม่มีวิธีอื่นแล้ว

และแม้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 จะให้บุคคลมีสิทธิแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพื่อยึดการตาย แต่ก็ให้สิทธิเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ผู้ประท้วงเป็นผู้มีสุขภาพดีอยู่เดิม และหากรอดชีวิตก็จะมีชีวิตต่อไปยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นคณะแพทย์จึงไม่สามารถปฏิเสธการรักษาตามความต้องการของผู้อดอาหารได้

จึงขอให้คณะแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง ชักจูงให้ผู้อดอาหารยอมรับอาหาร น้ํา และยา หากผู้ป่วยยังยืนยันจะอดอาหาร เมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่ขัดขืนจนทําให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจต่อคณะแพทย์และผู้พบเห็นจนเกินไปแล้ว ขอให้เข้าให้การช่วยเหลือโดยทันที เพื่อรักษาชีวิตของผู้อดอาหารไว้ ซึ่งถือเป็นการช่วยชีวิต มิใช่ความผิดทางกฎหมายและจรรยาบรรณแพทย์

2. ผู้เกี่ยวข้องรับข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีผู้ถูกแจ้งความดําเนินคดี และถูกจับกุมคุมขังเป็นจํานวนมาก เพียงเพราะต้องการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาล และทุกองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ควรรับข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการ ยุติธรรม และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ

3. การพิจารณาคดีอาญา ขอให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ และยึดถือระบบกล่าวหา ผู้ต้องหาทุกคนควรได้รับการประกันตัวก่อนการตัดสินคดี การร้องขอให้มีการไต่สวนเพื่อถอนประกัน ตัวควรกระทําได้โดยผู้มีส่วนได้เสียทางคดี ไม่ควรดําเนินการโดยศาลเอง และการสั่งถอนประกันกระทําเฉพาะกรณี ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี หรือมีเหตุอันควรเชื่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เท่านั้น

4.ขอให้ผู้ประท้วงรักษาชีวิต แม้สิ่งที่เรียกร้องยังไม่ประสบความสําเร็จในวันนี้ แต่การแสดงออกก็ทําให้ทุกฝ่ายได้ตระหนัก ถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เห็นความสําคัญของสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน การต่อสู้อาจต้องใช้เวลา แต่เวลาที่ใช้จะสั้นลง  หลังจากการแสดงความกล้าหาญและเสียสละของผู้อดอาหารประท้วง ทั้งชีวิตของผู้อดอาหารยังมีคุณค่าต่อการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง