ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายเอ็นจีโอไทย และฟิลิปปินส์ ยื่นหนังสือถึง อย. ขอให้ดำเนินการหยุดสารปรอทในเครื่องสำอาง  จี้ตรวจสอบ แก้ปัญหา หลังใช้แล้วหน้าพัง “มพบ.” เผยข้อมูลพบระบาดหนัก 3-4 ปี หญิงไทยสุดช้ำผิวพังรักษาไม่ได้ รวมตัวฟ้อง คดียังค้างคา!

 

เมื่อวันที่ 6  กุมภาพันธ์ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ประเทศไทย และ EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อยื่นหนังสือถึง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. เพื่อขอให้ดำเนินการหยุดสารปรอทในเครื่องสำอาง โดยมีตัวแทนจาก อย.เป็นผู้รับหนังสือแทน

น.ส.ไอลีน ลูเซโร (Aileen Lucero) EcoWaste Coalition ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตในไทยและไปขายที่ฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นการผลิตปี 2565 พบว่า มีครีมทาหน้า 12 ยี่ห้อ และครีมทาใต้วงแขน 2 ยี่ห้อ ที่มีการผสมสารปรอทในปริมาณที่สูงมากตั้งแต่ 2,486 - 44,540 ppm ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2565  ซึ่งกำหนดที่ 1 ppm เท่านั้น เครือข่ายภาคประชาชนฟิลิปปินส์ได้เสนอต่อ อย.ฟิลิปปินส์เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว เพราะสารดังกล่าวอันตรายมากทำลายผิวอย่างถาวร ที่ผ่านมาแม้จะพบหญิงสาวที่ได้รับผลกระทบจากครีมเหล่านี้  แต่กลับไม่มีใครกล้าที่จะออกมาเปิดเผยเรื่องราว เพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย แต่มีกรณีศึกษาพบในแคลิฟอร์เนียป่วยโคมาจากปรอท และที่รัฐมินนิโซตาต้องสูญเสียการมองเห็นบางส่วน ดังนั้น ขอให้ อย.ไทยเร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย 

 

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปรอทเป็นสารอันตรายที่ห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เพราะเพียงแค่ตั้งเอาไว้เฉยๆ ก็ระเหยและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ กระทบต่อพัฒนาการของคน ทารกในครรภ์ให้เกิดความพิการได้ จึงขอให้ อย.ตรวจสอบ ยกเลิกการผลิต และเปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมา อย. ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหาร อย. ซึ่งทราบว่าพยายามปราบปรามผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ ทั้งนี้ มูลนิธิและเครือข่ายฯ จะเดินหน้าเก็บตัวอย่างและตรวจสอบเครื่องสำอางที่ขายในไทย คาดว่าปลายปี 2566 น่าจะทราบผล 

 

ด้าน น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร รอง ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา มพบ.มีการตรวจสอบพบสารต้องห้ามผสมในเครื่องสำอางมาตลอด ทั้งปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่จำหน่ายในตลาด ขายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งในช่วง 3-4 ปี พบการระบาดของครีมเหล่านี้ในท้องตลาดมาก  มีผู้บริโภคใช้แล้วเกิดอันตรายกับผิวอย่างหนักจนไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ ทำให้มีการรวมตัวเพื่อฟ้องร้องต่อศาล ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่จบ ดังนั้น ขอเตือนประชาชน ว่า หากมีการโฆษณาว่าช่วยให้ขาวเร็ว ขาวผิดปกติ ไม่มีเลขสารบบ อย.ก็อย่าไปซื้อใช้ และให้แจ้งหน่วยงานเพื่อเข้าไปตรวจสอบต่อไป