ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ประชุมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์ ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้น 64 เรื่อง ถกแนวทางการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยกัญชาในประเทศไทย ยก 4 ประเด็น เร่งขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566  ดร.ภก.อนันต์ชัย  อัศวเมฆิน ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา/วิจัยจากการใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์  ซึ่งนับตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 64 เรื่องและกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ 42 เรื่อง  โดยงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจำนวนหนึ่งที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์  เช่น การนำผลการศึกษาไปใช้สนับสนุนการบรรจุยากัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ซึ่งแผนงานการดำเนินการของอนุกรรมการในปี 2566 นี้คือ การนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ทั้งการกำหนดนโยบาย  การบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์  และการกำหนดทิศทางการวิจัยกัญชาเพื่อตอบปัญหาสุขภาพของประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวภายหลังการประชุมว่า  คณะอนุกรรมการฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในประเด็นการทำงานของปี 2566 สรุปกันได้ว่ามี 4 ประเด็นที่เราต้องดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกัน  คือ 1. บูรณาการทำงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยประเด็นปัญหาวิกฤติสำคัญของประเทศ เรื่องกัญชา ซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับคณะกรรมการกำกับทิศ  เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน  2. รวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการไปแล้วและกำลังดำเนินการเพื่อตอบคำถามสังคมถึงผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและสุขภาพ  ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลวันนี้ มีครึ่งหนึ่งของงานวิจัยที่ดำเนินการศึกษาผลกระทบ  ที่ควรเร่งนำมาพิจารณาพูดคุยแลกเปลี่ยน และหาข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อตอบคำถามของสังคมเบื้องต้น รวมถึงวิเคราะห์ช่องว่างการวิจัย เพื่อดำเนินการเติมเต็มให้ตอบข้อสงสัยของสังคมให้ได้  โดยในการประชุมครั้งถัดไป จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน  เพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นและจะแจ้งให้สังคมทราบ และ  3. กำหนดทิศทางการวิจัยกัญชาของประเทศ  โดยในวันนี้สถาบันกัญชาทางการแพทย์ได้นำเสนอทิศทางการวิจัยของยากัญชาในโรคมะเร็ง  เนื่องจากโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของคนไทย  ถึงแม้ยากัญชาจะถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติในข้อบ่งชี้เรื่องการช่วยบรรเทาอาการในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย แต่แพทย์ก็ยังสั่งจ่ายน้อย เพราะยังขาดหลักฐานทางวิชาการที่มีมาตรฐานสูง  ซึ่งในต่างประเทศเองนั้นมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติมมากขึ้น  โดยพัฒนาสูตรยาให้มีความจำเพาะและวิจัยใน 3 ด้าน คือ ลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด  บรรเทาอาการและใช้ควบคุมการลุกลามของโรค  

"ประเทศไทยก็ควรคิดเรื่องนี้จริงจัง  เพราะตอนนี้ยามะเร็งเกือบทั้งหมดเราต้องนำเข้า  4. นำงานวิจัยสนับสนุนการใช้ในเชิงพานิชย์ โดยวันนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ได้มานำเสนอแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เบื้องต้น  ซึ่งในกระทรวงก็มีหลายหน่วยงานที่วิจัยและพัฒนายา  ซึ่งทางอนุกรรมการจะเชิญมาประชุมกลุ่มย่อยหารือกัน  เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากการวิจัยสามารถขึ้นทะเบียนได้ทันที หลังการวิจัยเสร็จสิ้น  ซึ่งการขับเคลื่อนทั้ง 4 ประเด็นนี้ เราจะบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยอื่นๆ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดของทรัพยากรและเวลา ที่ต้องดำเนินการให้เร็ว เพราะตอนนี้ในหลายประเทศก็กำลังอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน  เราต้องใช้โอกาสในฐานะที่เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีนโยบายขับเคลื่อนกัญชาเพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจ" ดร.อนันต์ชัย กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org