ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ยื่นหนังสือ “อนุทิน” และ ปลัดสธ. ขอความเป็นธรรมหลังหนังสือคำสั่งค่าตอบแทนเสี่ยงภัยชายแดนใต้ หรือ ฉ.10 มีการถอดวิชาชีพอื่นๆที่ปฏิบัติงาน ยังคงมีเพียง 4 วิชาชีพ เหตุเพราะความผิดพลาดทางเอกสาร ทั้งที่ปฏิบัติงานพื้นที่ชายแดนใต้มีความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน ร้องขอความชัดเจนกลุ่มวิชาชีพอื่นๆจะได้รับค่าความเสี่ยงตรงนี้ด้วยหรือไม่ หากไม่ได้พร้อมยกระดับร้อง ศอ.บต. และศาลปกครอง

 

เมื่อวันที่  14 กุมภาพันธ์  ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อติดตามแนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ โดยยื่นเรื่องถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)    โดยมีผู้แทนรับเรื่องดังกล่าว

นายริซกี ให้สัมภาษณ์ว่า ประเด็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฉบับที่ 10 ของบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้นั้น ทางสมาพันธ์ฯได้มีการติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี  2559  โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้เขตสุขภาพที่ 12 ตั้งคณะทำงานร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 10  จนมีการเสนอร่างฉบับปรับปรุงต่อกระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลังในปี 2562 ซึ่งไม่มีการประกาศใช้เสียที กระทั่งมีข่าวดีเมื่อเร็วๆนี้ด้วยคำสั่งการออกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน 5 ฉบับ ตาม ว.79 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีการปรับปรุงรายละเอียดทุกฉบับ โดยเฉพาะค่าตอบแทนชายแดนใต้ ที่มีการลงนามประกาศใช้และระบุสหวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้งวุฒิสูงกว่าปริญญาตรี ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 1,000 บาทต่อเดือน และวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 500 บาทต่อเดือน  นอกเหนือจากของเดิมที่ให้เฉพาะ 4 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล

“แต่ต่อมากลับมีการตัดทอนข้อความนี้ออกไป ทั้งที่ประกาศลงนามไปแล้ว จึงเป็นที่มาของการสอบถามกระทรวงสาธารณสุขว่า สรุปแล้วจะมีการดูแลบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้วิชาชีพอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 วิชาชีพด้วยหรือไม่ เพราะเงินนี้เป็นค่าเสี่ยงภัย ซึ่งทุกวิชาชีพที่ทำงานในชายแดนใต้ล้วนเสี่ยงภัย ไม่เหมือนเงินค่าตอบแทน P4P ที่เป็นเรื่องภาระงาน แต่นี่คือค่าเสี่ยงภัย จึงขอความเป็นธรรม ขอการดูแลบุคลากรในชายแดนใต้ด้วย” นายริซกี กล่าว

นายริซกี กล่าวอีกว่า หลังจากยื่นหนังสือถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และท่านปลัดสธ.แล้ว ก็จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และหากยังไม่ได้รับคำตอบก็จะยื่นเรื่องไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)  และศาลปกครองต่อไป

“ประเด็นที่เรารู้สึกไม่ดี คือ หากเป็นฉบับร่าง ยังไม่เท่ากับฉบับที่ลงนาม โดยท่านรองปลัดสธ. คือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ว่า มีสหวิชาชีพอื่นๆด้วย แต่กลับมีการตัดทอนในเวลาต่อมา และบอกว่าเป็นการผิดพลาดทางเอกสาร ตรงนี้ส่งผลต่อขวัญกำลังใจบุคลากรมาก เพราะจริงๆ พวกเราทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้มานาน ปฏิบัติงานเหมือนวิชาชีพอื่นๆ มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน” เลขาธิการสมาพันธ์ฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการยื่นหนังสือครั้งนี้แล้ว ทางสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ยังออกแถลงการณ์เรื่องนี้ ใจความระบุว่า เนื่องด้วยกระทรวงสาธารณสุขประกาศหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนบุคลากรสาธาธารณสุขชายแดนใต้(ฉบับที่ 10) โดยในเงินบำรุงแค่ 4 วิชาชีพเท่านั้น (แพทย์ ทันตแพทย์ เสภัชกร พยาบาลวิชาชีพ) ในอัตรา 1,000-10,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ มีการเลือกปฏิบัติ อันส่งผลต่อขวัญกำลังใจของสหวิชาชีพอื่นๆ และทุกสายงานในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ล้วนร่วมกันปฏิบัติงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย และมีความเสี่ยงภัยไม่แตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ สมาพันธ์ฯ จึงได้ยื่นหนังสือถึงผู้บริหารฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง และขอติดตามว่า สหวิชาชีพอื่นๆจะได้รับค่าตอบแทนฉบับ 10 ด้วยเหรือไม่  รวมทั้งขอเชิญชวนพี่น้องทุกวิชาชีพ ทุกสายงานที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างทุกประเภท ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกหน่วยงานในจังหวัดชายแดนใต้(ยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวมถึง 4 อำเภอในสงขลา ได้แก่ เทพา จะนะ สะบ้าย้อย นาทวี) ที่ได้รับการเลือกปฏิบัติ และไม่เคยได้รับค่าตอบแทน ฉ.10 เลย ร่วมยกระดับเรียกร้องความเป็นธรรมต่อกระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ต่อไป

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง: รองปลัดสธ.ชี้ค่าตอบแทนชายแดนใต้ยังคงได้ 4 วิชาชีพ ส่วนเพิ่มสายงานอื่นๆ จ่อพิจารณาหาทางช่วยเหลือ)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org