ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ พัฒนาศักยภาพแพทย์ ในการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุรับการดูแลรักษาอย่างเชื่อมโยงไร้รอยต่อ 

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2565 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Complete Aged Society) โดยมีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 13,368,214 คน คิดเป็นร้อยละ 20.2 ของประชากรทั้งหมด (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566) เมื่อประชากรสูงอายุมีการเพิ่มขึ้นส่งผลให้โรคที่เกิดจากความเสื่อมอันเนื่องมาจากความชรามากขึ้นตามด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยกลุ่มอาการสูงอายุ

ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กระทรวงฯประกาศให้เป็นปีแห่ง “สุขภาพสูงวัยไทย” มีนโยบายมุ่งเน้นด้านสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง เน้นการส่งเสริมให้สูงวัยอย่างแข็งแรง โดยบูรณาการดูแลผู้สูงอายุทั้งร่างกาย จิตใจ ภาวะสมองเสื่อม และสนับสนุนโรงพยาบาลทุกระดับให้มีคลินิกผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมมอบบริการและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ เป็นของขวัญปีใหม่ตลอดปี 2566 ประกอบด้วย การคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ การจัดบริการคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับ การมอบวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ 

แพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ได้เล็งเห็นว่า แพทย์เป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนการจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุ จึงได้จัดการอบรม “การจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุในสถานบริการสุขภาพ หลักสูตร Case Based Learning in Geriatric Ambulatory Care” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพแพทย์ให้มีทักษะในการประเมิน วินิจฉัย ตรวจ รักษา ผู้สูงอายุที่มารับบริการในคลินิกผู้สูงอายุโดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและแพทย์เฉพาะทาง

ซึ่งได้กำหนดการอบรม แบ่งเป็น 3 ระยะ โดย ระยะที่ 1 วันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2566 (การบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่มีภาวะกลุ่มอาการสูงอายุและปัญหาสุขภาพที่สำคัญ) ,ระยะที่ 2 วันที่ 20-24 มีนาคม 2566 (การบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม) และ ระยะที่ 3 วันที่ 24 -28 เมษายน  2566 (การบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้สูงอายุในคลินิกผู้สูงอายุและการฝึกปฏิบัติทางคลินิก) ซึ่งแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เข้าถึงบริการการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง  ไร้รอยต่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป