ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรมควบคุมโรค ร่วมทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงพื้นที่เกาะสุมาตรา  ประเทศอินโดนีเซีย เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวัง หลังพบ “โปลิโอ” สายพันธุ์กลายพันธุ์จากวัคซีนระบาดในเกาะสุมาตรา   พร้อมเดินหน้ารณรงค์หยอดวัคซีนในไทย โดยเฉพาะชายแดนภาคใต้  เชิญชวนผู้ปกครองพาบุตรหลานรับวัคซีนโรงพยาบาลใกล้บ้านฟรี!

 

“โปลิโอ”  เป็นเชื้อไวรัสออกจากร่างกายผู้ติดเชื้อทางอุจจาระ เข้าร่างกายทางปากโดยการกินและดื่ม ผู้รับเชื้อส่วนหนึ่งถูกไวรัสทำลายระบบประสาทไขสันหลังกล้ามเนื้อพิการที่พบบ่อยคือขาลีบตลอดชีวิต..

ข่าวดี คือ โลกใกล้ถึงจุดที่จะกวาดล้างโปลิโอได้สำเร็จเหมือนการกวาดล้างไข้ทรพิษ วิธีการสำคัญที่สุด คือ การให้วัคซีนแก่เด็ก จากการรณรงค์ต่อเนื่องหลายทศวรรษ ปัจจุบันเชื้อโปลิโอสามสายพันธุ์ (types) เหลือเพียงหนึ่งสายพันธุ์ในธรรมชาติ สายพันธุ์ที่สองและสาม (Wild poliovirus type 2 และ 3) ได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่เพื่อให้แน่ใจในการป้องกันโรคจนกว่าเชื้อโปลิโอจะถูกกวาดล้างไปทั้งหมด ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จึงยังต้องให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอต่อไปในระยะนี้

ในปี พ.ศ. 2497 นักวิจัยวัคซีนได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ เพราะสามารถคิดค้นวัคซีนทั้งที่เป็นเชื้อตาย ซึ่งใช้ฉีด (injectable poliovaccine - IPV)  และวัคซีนที่มีชีวิตชนิดหยดเข้าปาก ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีชีวิต (oral poliovaccine - OPV)

โดย OPV ใช้ง่าย เพราะไม่ต้องฉีด ใครเป็นคนหยดก็ได้ จึงเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากกว่า IPV นอกจากนี้ ยังให้ผลการป้องกันสูงกว่าทั้งต่อเด็กที่รับวัคซีนและต่อชุมชน เชื้อเป็นของ OPV เข้าไปในร่างกายของเด็กเจริญเติบโตในลำไส้โดยไม่ทำอันตรายต่อเด็ก แล้วยังออกไปในอุจจาระกระจายไปในชุมชนที่อยู่ริมน้ำ ทำให้เด็กอื่น ๆ ในชุมชนพลอยได้รับวัคซีนด้วย ด้วยเหตุนี้การใช้ OPV จึงเป็นยุทธศาสตร์หลักในการกวาดล้างโปลิโอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสุขอนามัยยังไม่ดี

อย่างไรก็ตาม OPV อาจจะเป็นอันตรายสำหรับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประเทศที่ไม่มีโปลิโอระบาดมาเป็นเวลานานแล้วจึงหันไปใช้ IPV ซึ่งปลอดภัยกว่า แต่ไม่มีผลในการป้องกันเท่า OPV

ทั่วโลกช่วยกันรณรงค์หยด OPV จนสายพันธุ์ที่สองและสามสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังมีปัญหานิดหน่อย กล่าวคือ ถ้าไม่ได้ให้วัคซีนต่อเนื่องไวรัสจากวัคซีนที่อยู่ในชุมชนสามารถกลายพันธุ์กลับมาทำอันตรายต่อผู้รับเชื้อได้ เราเรียกว่า circulating Vaccine-Derived PolioVirus  type 2 (cVDPV2) อย่างที่เกิดกับเกาะสุมาตราอินโดนีเซียขณะนี้ และต้องระวังว่าจะเกิดกับภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีอัตราการครอบคลุมวัคซีนต่ำและมีการไปมาหาสู่กับสุมาตรามากด้วย

 

** ล่าสุดเมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยมี ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. และนพ.ชนินันท์ สนธิไชย กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดอาเจะห์ ของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อติดตามข้อมูลโรคโปลิโอสายพันธุ์วัคซีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ

ศ.นพ.วีระศักดิ์ ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus ภายหลังการเดินทางกลับมาจากจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย ว่า ทางทีมวิจัย ม.อ. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเกาะสุมาตรามาตลอดราว 30 ปี  ซึ่งที่ผ่านมาภาคใต้ของไทยกับทางจังหวัดอาเจะห์ ได้ทำงานร่วมกันมานานเกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 หลังเกิดวิบัติภัยสึนามิใหม่ ๆ ทำให้สนิทสนมกันมาก

ทางทีม ม.อ. กับกรมควบคุมโรค ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ cVDPV2 เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแนวทางเฝ้าระวัง และป้องกันโรคโปลิโอในประเทศไทย

“เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบุคลากรสาธารณสุขในอินโดนีเซียในจังหวัดอาเจะห์อย่างดียิ่ง เราก็ได้ลงพื้นที่ไปยังอำเภอ Pidie ที่พบผู้ป่วยจากเชื้อ cVDPV2 ก็ทำให้ทราบข้อมูลรายละเอียดที่เป็นประโยชน์มาก..”

 

ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2563 ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วย cVDPV2 กว่าหนึ่งพันราย ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา ช่วงโควิดระบาดทำให้รายงานเข้ามาลดลงเหลือเพียง 362 รายเมื่อเดือนตุลาคม 2565 อาจจะเป็นไปได้ว่า cVDPV2 ระบาดมากขึ้นในช่วงโควิด แต่ระบบสาธารณสุขระส่ำระสายจึงรายงานเข้ามาน้อย

สำหรับผู้ป่วยในอาเจะห์ ค้นพบเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่อำเภอ Pidie หลังได้รับการยืนยันว่าเป็น cVDPV2 ก็ได้มีการรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ทุกรายในจังหวัดนั้น ดำเนินการไปแล้ว 2 รอบ ครอบคลุมเป้าหมายได้เกินร้อยละ 95 และกำลังจะรณรงค์รอบที่ 3

“ในอำเภอ Pidie ของอาเจะห์ สถานการณ์บางส่วนคล้ายสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คือ เคยมีกองกำลังขัดแย้งกับรัฐบาลกลางและมีความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ที่คล้ายกัน คือ ปกติชาวบ้านพาลูกหลานมารับวัคซีนกันน้อยมาก ทำให้เชื้อ cVDPV2 ระบาดได้ และขณะนี้ได้ระบาดออกไปนอก Pidie ไปยังอำเภออื่นแล้ว โดยเด็กที่รับเชื้อในอำเภออื่นยังไม่มีอาการ” ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว

การระบาดของ cVDPV2 เกิดจาก OPV2 ที่เคยใช้วนเวียนอยู่ในชุมชนเป็นเวลานานจนกลายพันธุ์ดุร้ายมากขึ้น ถ้ามีการหยอดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนให้ได้ครบถ้วนต่อเนื่องยาวนานพอ cVDPV2 จะถูกจำกัดวงและค่อย ๆ หายไปจากชุมชนในที่สุด

การรณรงค์หยอดวัคซีนเด็กทุกคนในพื้นที่เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านไม่ค่อยมารับวัคซีนตามปกติ เพราะในช่วงรณรงค์จะมีกระบวนการตามเด็กจากทุกบ้านและทุกคน ให้รับการหยอดวัคซีน OPV เข้าทางปาก ไม่ต้องฉีดยา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตลอดจนอาสาสมัครช่วยกันหยอดได้เพราะการหยอดสะดวกกว่าการฉีด ครอบคลุมประชากรเป้าหมายได้ง่าย อีกทั้งต้นทุนวัคซีนและค่าแรงถูกกว่าการฉีด IPV มาก ที่อินโดนีเซียเขาเรียกว่าสัปดาห์รณรงค์ให้เด็กไปรับหยดน้ำหวาน (Sweet Drop)

กลับมาที่ประเทศไทย เราเคยรณรงค์หยอดวัคซีนโปลิโอทั่วประเทศในอดีต แต่เนื่องจากการครอบคลุมของวัคซีนในประเทศไทยได้ผลดี ปัจจุบันการรณรงค์ยังเหลืออยู่เฉพาะพื้นที่ซึ่งวัคซีนยังครอบคลุมได้น้อย ซึ่งสามจังหวัดชายแดนใต้อยู่ในกรณีนี้ ในช่วงโควิดระบาด 2-3 ปี กิจกรรมรณรงค์อาจกระท่อนกระแท่นไปบ้าง บัดนี้จึงถึงเวลาที่เราต้องกลับมารณรงค์อย่างเข้มแข็งอีกโดยเฉพาะเมื่อมีข่าว cVDVP2 ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน

การรณรงค์ของเราคงใช้วัคซีน OPV (สายพันธุ์ที่ 1 และ 3) เพราะทั่วโลกเลิกใช้ OPV2 แล้ว พวกเราอาจจะสงสัยว่าแล้วจะป้องกัน cVDPV2 ได้หรือ ขณะนี้ประเทศไทยมีการให้ IPV (สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3)  อยู่คนละ 1 เข็ม ผมคิดว่าคงป้องกันไม่ได้ดีเท่า OPV2 แต่เราก็ต้องใช้ OPV (สายพันธุ์ที่ 1 และ 3) และ IPV (สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3) ไปก่อนเพราะไม่มีหลักฐานว่ามี cVDPV2 อยู่ในพื้นที่ประเทศไทย

ที่อาเจะห์และแหล่งระบาดของ cVDPV2 อื่น ๆ การรณรงค์จะใช้วัคซีนพิเศษจากองค์การอนามัยโลก ชื่อย่อคือ nOPV2 ซึ่งก็เป็น OPV2 แต่มีตัว ‘n’ นำหน้ามาจากคำว่า novel แปลว่าเป็นชนิดใหม่พิเศษ วัคซีนชนิดจะมีการกลายพันธุ์ไปเป็น cVDPV2 น้อยมาก เนื่องจากต้นทุนแพงจึงจำกัดเฉพาะเขตระบาดของ cVDPV2 เท่านั้น ถ้าชายแดนใต้เรามี cVDPD2 ตอนนั้นเราก็จะถึงเวลาไปเบิกวัคซีนนี้จากองค์การอนามัยโลกมาถล่มการระบาด

ทั้งนี้ มีคำถามเพิ่มเติมว่าแล้วจะแน่ใจอย่างไรว่าตอนนี้ชายแดนใต้ไม่มี cVDPV2 คำตอบ ก็คือ ต้องอาศัยการเฝ้าระวังของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ เมื่อไหร่ที่พบเด็กมีไข้แขนขาเปลี้ยไม่มีแรง (acute flaccid paralysis -- AFP) ต้องรีบเก็บอุจจาระส่งตรวจหาเชื้อโปลิโอตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นเราก็จะรู้ว่าเป็นโปลิโอหรือไม่ และเป็นสายพันธุ์ใด ตามปรกติในแต่ละจังหวัดในแต่ละปีต้องมี AFP อยู่บ้างประปราย ถ้าไม่มีรายงาน AFP เข้ามาเลยแสดงว่าระบบเฝ้าระวังเริ่มอ่อนแอ มีโปลิโอระบาดเราก็จะไม่รู้ หรือ รู้ก็เมื่อสายไปแล้ว

 ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในอินโดนีเซีย จึงเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องเฝ้าระวังและป้องกันด้วยการรีบให้วัคซีนเด็กไทยให้ครอบคลุมมากที่สุด ในเขตปรกติก็ขอให้พ่อแม่นำเด็กไปรับวัคซีนชนิดต่าง ๆ ตามที่ทางสาธารณสุขกำหนดไว้ ซึ่งในนั้นจะครอบคลุมวัคซีนป้องกันโปลิโออยู่แล้ว ถ้าเราได้กันครบถ้วนก็ไม่ต้องกลัวว่าโปลิโอจะระบาด ส่วนในเขตล่อแหลมอย่างจังหวัดชายแดนใต้ที่การได้รับวัคซีนตามปรกติต่ำ ก็ต้องมีการรณรงค์วันหยอดโปลิโอเป็นมาตรการพิเศษ ต้องรณรงค์ในชายแดนใต้ต่อเนื่องหลายปีกว่าจนกระทั่งอัตราการรับวัคซีนปรกติจะสูงขึ้นเท่าภาคอื่น ๆ ของประเทศ

 “ หลังการเดินทางไปเยือนอาเจะห์ครังนี้ คงจะมีการหารือในกรมควบคุมโรค ว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้แล้วจะดำเนินการขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องรณรงค์ให้มาหยอดวัคซีนโปลิโอกันมากขึ้น อย่างน้อยต้องเกินร้อยละ 90   เหมือนที่อินโดนีเซียทำ แต่ของไทยจะแตกต่างตรงไม่มีวัคซีนพิเศษขององค์การอนามัยโลก เพราะเราปลอดโปลิโอมา 20 กว่าปีแล้ว เมื่อไหร่พบผู้ป่วย ฉากทัศน์ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปทันที..” ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.ชนินันท์ สนธิไชย กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า โรคโปลิโอ สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา พบว่า  ทั่วโลกต่างประสบปัญหาความครอบคลุมการได้รับวัคซีนโปลิโอน้อยลง  และพบผู้ป่วยโปลิโอเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ล่าสุดจากการลงพื้นที่ในจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย พบว่า การครอบคลุมการให้วัคซีนโปลีโอค่อนข้างน้อย ยิ่งช่วงโควิดยิ่งน้อยลง ทำให้พบผู้ป่วยโปลิโอ ซึ่งเป็นเด็กที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง จากนั้นส่งตรวจเชื้อจนพบว่าป่วยโปลิโอที่เป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิด 2 หรือ circulating Vaccine-Derived PolioVirus type 2 (cVDPV2)   ขณะนี้อินโดนีเซีย ได้รับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ในการออกมาตรการหยอดวัคซีนให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน ทั้งพื้นที่อาเจะห์ และพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว

“ ประเทศอินโดนีเซีย ได้จัดระบบการให้วัคซีนโปลิโอ เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด ขณะที่ประเทศไทย เรามีระบบในการเฝ้าระวังในทุกจังหวัดรวมถึงพื้นที่ชายแดนมาโดยตลอด พร้อมทั้งเร่งรัดมาตรการให้วัคซีนโปลิโอในเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ โดยเฉพาะหลังโควิด เนื่องจากช่วงโควิดสัดส่วนการรับวัคซีนน้อยลง” นพ.ชนินันท์ กล่าว

นพ.ชนินันท์ อธิบายถึงสาเหตุที่มีเด็กเข้ารับวัคซีนโปลิโอน้อยลง ว่า ไทยจะคล้ายประเทศอื่นๆ โดยในช่วงโควิดพ่อแม่ผู้ปกครองจะนำบุตรหลานมารับวัคซีนน้อยลง ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก  เพราะช่วงโควิดระบาดโรงพยาบาลจะเน้นดูแลผู้ป่วยโควิดเป็นสำคัญ  ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็กังวลว่า หากพาลูกหลานมารับวัคซีนจะเสี่ยงรับเชื้อโควิดหรือไม่ แต่หลังจากโควิดระบาดได้ผ่านพ้นไป  ล่าสุดในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้หน่วยบริการในสังกัดทั่วประเทศติดตามเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบให้มารับวัคซีนโปลิโอรวมถึงวัคซีนอื่นๆ จนครบ

ดังนั้น ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ลูกหลานไม่ได้รับวัคซีนโปลิโอตามนัด ขอให้พาไปรับวัคซีนได้ทันที หลายคนเข้าใจผิดว่า เมื่อไม่ได้ไปตามนัดแล้ว ก็จะไม่สามารถไปรับวัคซีนได้อีก  ทั้งที่ข้อเท็จจริงสามารถติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือแม้แต่รพ.รัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็สามารถให้บริการได้เช่นกัน

สำหรับวัคซีนโปลิโอของประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ วัคซีนแบบหยอดจะให้ 5 ครั้ง ตามช่วงอายุต่างๆ ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน  6 เดือน  1 ขวบครึ่ง สุดท้ายให้อีกตอน 4 ขวบ นอกจากนี้ มีวัคซีนฉีดให้ 1 เข็ม คือ ตอนอายุ 4 เดือน ซึ่งหากเกินมาแล้วก็ยังรับได้

“ แม้ประเทศไทยไม่เจอผู้ป่วยมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะประเทศข้างเคียงยังเจอผู้ป่วย ประกอบกับตอนนี้เปิดประเทศ มีการเดินทางเข้ามา หากมีเชื้อก็ถือว่ามีความเสี่ยง ดังนั้น จึงควรพาลูกหลานไปรับวัคซีนตามนัดดีที่สุด หรือสามารถสอบถามอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ รพ.สต.ใกล้บ้าน ในการรับวัคซีนโปลิโอได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคต้องมีแนวทางคัดกรองคนในพื้นที่เสี่ยงที่จะเข้ามาประเทศไทยเกี่ยวกับโรคโปลิโอชนิดกลายพันธุ์ด้วยหรือไม่ นพ.ชนินันท์ กล่าวว่า  ประเทศไทยได้เน้นระบบการเฝ้าระวังโรคอยู่แล้ว หากเราคัดกรองคนที่มีอาการและตรวจจับเชื้อได้ก็จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดโรคได้เช่นกัน  

“สิ่งสำคัญขอให้ประชาชน ที่บุตรหลานยังไม่ได้รับวัคซีนโปลิโอ หรือรับไม่ครบ ขอให้มารับวัคซีนให้มากที่สุด ซึ่งก่อนโควิดระบาดมีเด็กไทยได้รับวัคซีนกว่าร้อยละ 90 แต่ช่วงโควิดระบาดมีเด็กมารับวัคซีนลดลง ดังนั้น ความท้าทายจากนี้คือ ต้องเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนโปลิโอให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 90 ให้ได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กไทยทุกคน” นพ.ชนินันท์ กล่าวทิ้งท้าย

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org