ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์เรื่องสูตรสมุนไพรโบราณ ใบยอ แก่นยอ ฝางเสน ข้าวเปลือกเจ้า ใบเตย ขลู่ และรางจืดรักษาโรคเกาต์ และโรครูมาตอยด์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อมูลโดยระบุว่า สูตรสมุนไพรโบราณ ใบยอ แก่นยอ ฝางเสน ข้าวเปลือกเจ้า ใบเตย ขลู่ และรางจืดรักษาโรคเกาต์ และโรครูมาตอยด์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า การใช้สมุนไพรรักษาโรคเกาต์และโรครูมาตอยด์นั้นยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตรที่เพียงพอ โดยโรคเกาต์เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูง แต่การดื่มน้ำสมุนไพรบางชนิดไม่ได้ช่วยทำให้กรดยูริกดลง ต้องพิจารณาเรื่องสรรพคุณของสมุนไพร และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนตัดสินใจรับประทานสมุนไพรหรืออาหารชนิดใด ๆ ก็ตาม

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับโรคเกาต์ กรมการแพทย์ ระบุว่า โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานานจนทำให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตบริเวณข้อและเนื้อเยื่อในร่างกาย ผลึกจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ มักพบในเพศชายอายุ 30 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิงจะพบมากในช่วงวัยหลังหมดประจำเดือน อาการของโรคเกาต์ ได้แก่ ข้ออักเสบแบบเฉียบพลัน เริ่มจากข้อเดียว ส่วนใหญ่เป็นที่โคนข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า มีอาการปวด บวมแดง ร้อน เจ็บเมื่อกด และอาจมีไข้ บางรายพบก้อนโทฟัส ซึ่งเกิดจากการสะสมของผลึกเกลือยูเรตในเนื้อเยื่ออ่อน ข้อต่อ กระดูก และกระดูกอ่อน มักพบบริเวณศอก ตาตุ่ม นิ้วมือ นิ้วเท้า ผู้ป่วยโรคเกาต์ยังพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ด้วย ประมาณร้อยละ 10-25 ของผู้ป่วย 

สำหรับแนวทางการรักษาโรคเกาต์ควรใช้การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยาร่วมกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ร่วมกับการดูแลโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์ ขณะมีอาการข้ออักเสบกำเริบควรเลือกรับประทานโปรตีนจาก ไข่ เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา ยอดผักต่าง ๆ ลดการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด น้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุ๊กโตส เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และควรดื่มน้ำ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หมั่นสังเกตอาหารว่าชนิดไหนที่รับประทานแล้วมีอาการข้ออักเสบให้หลีกเลี่ยง

ส่วนโรครูมาตอยด์ จะเริ่มจากอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร จากนั้นจะเกิดอาการข้ออักเสบตามมา ส่วนใหญ่จะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และม้ามโตด้วย อาการของข้ออักเสบจะเจ็บตามข้อนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อนิ้วเท้า และฝ่าเท้า เมื่อพักการใช้งานข้อเช่น ช่วงหลังตื่นนอนจะมีอาการข้อยึดและขยับไม่ได้ มีอาการข้อบวม และปวด ที่เกิดจากข้อกระดูกมีน้ำมาก เยื่อบุข้อหนาตัว หากปล่อยไว้เป็นเวลานานจะส่งผลต่อกระดูกอ่อนของข้อถูกทำลาย กระดูกรอบข้อจะบางลง และเกิดพังผืดขึ้นมาแทน ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่ปกติ โรคนี้พบมากในกลุ่มอายุ 30-50 ปี ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนพฤติกรรมเสี่ยง คือ ชอบเนื้อสัตว์ติดมัน รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่

เพื่อป้องกันทั้งโรคเกาต์และโรครูมาตอยด์ ควรดื่มน้ำให้มาก พักผ่อนอย่างเพียงพอ งดดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง