ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) เขตยานนาวา กทม.เผยแนวทางขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง เน้นประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิบัตรทองผ่านเครือข่ายแกนนำชุมชนและ อสส. ในพื้นที่ ตั้งเป้าดึงชุมชนในเขตยานนาวาเข้ามาทำงานร่วมกันให้ได้ 100% 

วันที่ 24 ก.พ. 66 นางสำลี ศรีระพุก ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ จากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร แนวทางการทำงานของหน่วย 50(5) ในพื้นที่เขตยานนาวา ว่าเน้นการเชื่อมประสานกับเครือข่ายแกนนำในชุมชน เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในการให้คำปรึกษาแนะนำการเข้าถึงสิทธิสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง ตลอดจนการรับเรื่องร้องเรียนและการขอรับเงินเยียวยาต่างๆ

นางสำลี กล่าวว่า การทำงานของหน่วย 50(5) ในเขตเมืองนั้นมีความหนาแน่นของประชากรสูง โดยเฉพาะในเขตที่ตั้งของหน่วย 50(5) เองก็เป็นชุมชนแออัด ปัญหาที่พบบ่อยคือเรื่องการเข้าถึงสิทธิ การตรวจสอบสิทธิ และการย้ายสิทธิมาจากต่างจังหวัดซึ่งประชาชนไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร การทำงานจึงเน้นเรื่องการเผยแพร่ความรู้และสอนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน สปสช. มาดำเนินการตรวจสอบสิทธิหรือย้ายสิทธิด้วยตัวเอง

“เราใช้วิธีประชาสัมพันธ์ด้วยเสียงตามสายให้ดาวน์โหลดแอปฯ สปสช. ให้สามารถตรวจสอบสิทธิด้วยตัวเองได้ เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว เติมเงินค่าอินเทอร์เน็ตนิดหน่อยก็ใช้งานได้แล้ว ยิ่งตอนนี้พัฒนาให้ย้ายหน่วยบริการได้ด้วยตัวเองก็ยิ่งสะดวกมากขึ้น และจะเน้นให้เขาลองทำด้วยตัวเอง เพราะถ้าเราทำให้มันก็ได้แค่คนเดียว แต่ถ้าชาวบ้านทำเป็นแล้ว เขาก็สามารถไปสอนต่อให้กับญาติหรือคนในครอบครัวได้ด้วย”นางสำลี กล่าว

ทั้งนี้ การประชาสัมพันธ์ด้วยเสียงตามสาย นอกจากในชุมชนที่ตั้งของหน่วย 50(5) แล้ว ในชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็ใช้วิธีการเดียวกัน โดยจะขอความร่วมมือจากแกนนำชุมชนต่างๆเข้าร่วมอบรมความรู้เกี่ยวกับบัตรทองและเข้ามาร่วมทีมด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมทั่วแขวงนนทรีแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งเขตยานนาวา

นางสำลี กล่าวต่อไปว่า นอกจากเสียงตามสายแล้ว เนื่องจากตนเป็น อสส.ด้วย จึงยังใช้ช่องทางนี้ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อน อสส. รับทราบและนำข้อมูลไปกระจายแก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบต่อ โดยเฉพาะการที่ สปสช. ยกเลิกสัญญากับ 9 โรงพยาบาล ซึ่งในพื้นที่มี 2 โรงพยาบาลที่ถูกเลิกสัญญาคือโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท และโรงพยาบาลเพชรเวช ซึ่งนอกจาก 2 ช่องทางนี้แล้ว หน่วย 50(5) ก็ยังจัดทีมลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ 
ขณะเดียวกันก็ต้องชื่นชม สปสช. ที่ประชาสัมพันธ์ได้ดี ใช้กลไกหลายอย่างในการประชาสัมพันธ์ ไม่เฉพาะแค่ 50(5) อย่างเดียว รวมทั้งมีกลุ่มไลน์ในการสื่อสาร ทำให้เมื่อพบปัญหาก็สามารถแจ้งเข้าไปในกลุ่มแล้วแก้ไขกันทันที หรือบางส่วนที่ไม่ทราบข้อมูลก็ถามเข้าในกลุ่มไลน์แล้วเอาคำตอบมาสื่อสารต่อได้

ในส่วนของการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ นั้น เฉลี่ยแล้วมีเข้ามาเดือนละประมาณ 2 เรื่อง ทั้งเรื่องการถูกเรียกเก็บเงิน การ complain คุณภาพการบริการ เช่น การใช้วาจาไม่สุภาพ เป็นต้น รวมทั้งการรับดำเนินการเพื่อยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาต่างๆ ทั้งเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 และเงินเยียวยากรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมีอาการไม่พึงประสงค์หรือเสียชีวิต ส่วนระบบการรับเรื่องนร้องเรียนนั้นก็จะมีหลายช่องทาง เช่น การรับเรื่องทางโทรศัพท์ โดยมากประชาชนจะทราบหมายเลขจากการประชาสัมพันธ์ของ สปสช. การรับเรื่องผ่าน อสส. ซึ่งได้ขอความร่วมมือช่วยรับเรื่องแล้วส่งต่อมาที่หน่วย 50(5) การรับเรื่องผ่านผู้นำชุมชนต่างๆ หรือแม้แต่การรับเรื่องผ่านศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในพื้นที่เขตอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

“ในการทำงาน รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยประชาชนแล้วเขาพอใจ เช่น ช่วยขอเงินเยียวยาวัคซีนโควิด-19 มีเคสหนึ่งเสียชีวิต อีกเคสฉีดแล้วตาบอด รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ให้คนในครอบครัวได้บ้าง  หรือเรื่องคนไม่มีบัตรประชาชนเราก็ช่วยผลักดันให้ได้บัตร ทำให้เขาใช้สิทธิบัตรทองได้ ต้องขอบคุณ สปสช. ที่สนับสนุนกลไกภาคประชาชนให้เราช่วยขับเคลื่อนงาน ซึ่งทิศทางในอนาคตเราตั้งเป้าจะเชื่อมร้อยชุมชนต่างๆในเขตยานนาวาให้ได้เต็ม 100% พยายามดึงแกนนำในแต่ละชุมชนเข้ามาร่วม รวมทั้งการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน”นางสำลี กล่าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand