ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข่าวลวง! หลอดเลือดขอด แผลเปื่อยที่ขา แข้งดำ ขากะดำกะด่าง คันเรื้อรัง สะเก็ดเงิน สิวเลยวัย ฝีรักแร้ ขาหนีบ ก้น เกิดจากโรคน้ำเหลืองเสีย

ตามที่ได้มีผู้ส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องหลอดเลือดขอด แผลเปื่อยที่ขา แข้งดำ ขากะดำกะด่าง คันเรื้อรัง สะเก็ดเงิน สิวเลยวัย ฝีรักแร้ ขาหนีบ ก้น เกิดจากโรคน้ำเหลืองเสีย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ พร้อมชี้แจงว่า โรคน้ำเหลืองเสีย ไม่มีอยู่จริงในทางการแพทย์ เป็นเพียงภาษาชาวบ้านที่ใช้เรียกลักษณะของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือเรียกอีกชื่อว่า Impetigo โดยเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังผ่านทางบาดแผลที่เกิดจากรอยถลอกหรือการแกะเกา บริเวณที่เป็นจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน ผื่นแฉะ อาจบวมแดงและมีน้ำเหลืองไหลได้ ซึ่งถ้ามีอาการแล้วดูแลรักษาที่ไม่ดีอาจทำให้เกิดการลุกลาม และหายช้าได้ สำหรับการรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรง โดยมีทั้งสบู่ฟอกเพื่อฆ่าเชื้อ การให้ยาทา รวมถึงการใช้ยากินหรือยาฉีดในกรณีที่มีอาการรุนแรง ฉะนั้นผู้ที่มีอาการควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ ยังควรดูแลเรื่องความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หากพบเจอสิ่งสกปรกควรรีบล้างผิวหนังบริเวณนั้น และไม่แกะเกาบริเวณรอยโรคหรือตำแหน่งที่เป็นผื่น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่ผิวหนังและการลุกลามของรอยโรคด้วย ในส่วนของอาหารการกินต่าง ๆ ไม่ได้มีผลต่อตัวโรคผิวหนังชนิดนี้ 

จากประเด็นที่มีการกล่าวถึงเส้นเลือดขอด สะเก็ดเงิน สิว ฝีตามซอกพับต่าง ๆ และรอยดำนั้น ไม่ได้มีสาเหตุจากน้ำเหลืองเสีย การอ้างอิงโฆษณาสรรพคุณยาปรับน้ำเหลืองเพื่อรักษาโรคผิวหนังนั้นถือว่าไม่เป็นความจริง และไม่ได้อยู่ในมาตรฐานในการรักษาโรคผิวหนัง

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับเส้นเลือดขอด เป็นอาการหนึ่งในภาวะหลอดเลือดดำชั้นตื้นผิดปกติ หรือที่เรียกว่า Chronic Venous Disorder (CVD) เกิดจากความดันในหลอดเลือดดำที่สูงมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดเส้นเลือดขอด ได้แก่  การมีอายุที่มากขึ้น การตั้งครรภ์ ภาวะอ้วน พันธุกรรม เพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย การทำงานที่ต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติที่บริเวณลิ้นของหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ไม่ดีจากแรงโน้มถ่วงจึงทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้เกิดรอยโรคใน CVD ตามมา เช่น เส้นเลือดฝอย เส้นเลือดขอด ผิวหนังอักเสบ ภาวะหนังแข็ง  จนถึงทำให้เกิดแผลลึกตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม 

ส่วนโรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ลักษณะอาการเป็นผื่นที่ผิวหนัง หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า  อวัยวะเพศ และเล็บ อีกทั้งยังพบโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะข้ออักเสบผิดรูป ภาวะอ้วนลงพุง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน และภาวะซึมเศร้า การรักษาที่เหมาะสม คือการทายาเฉพาะที่ที่ผิวหนัง หรือการฉายแสงเฉพาะรอยโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากจำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน และการฉายแสงอาทิตย์เทียม แม้ว่าโรคสะเก็ดเงินยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถทำให้ผื่นยุบและอาการของโรคสงบลงได้ ผู้ป่วยยังต้องทายาเป็นครั้งคราว หรือรับประทานยา ภายใต้การดูแลของแพทย์ 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง