ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผ็ดมากยิ่งผอมเร็ว ความเชื่อการกินพริกช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญในร่างกาย เบิร์นแคลลอรีได้ดีกว่า จริงหรือเท็จ!

ตามที่มีข้อมูลแนะนำด้านสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นเรื่องกินเผ็ดเพิ่มระบบเผาผลาญในร่างกาย ทำให้ผอมเร็ว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ โดยข้อมูลในสื่อออนไลน์ที่พบจะระบุว่า การกินเผ็ดจะเป็นการเพิ่มระบบเผาผลาญในร่างกาย ทำให้ผอมเร็วขึ้นจากสารแคปไซซิน (Capsaicin) ในพริก 

กรณีนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ากินพริกทำให้น้ำหนักลงได้ โดยพริกเป็นพืชที่มีรสเผ็ดร้อนเนื่องจากมีสาระสำคัญ คือ แคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็น Pungent agent ทำให้ระคายเคืองและแสบร้อน ปัจจุบันมีการนำสารสกัดแคปไซซินจากพริกมาใช้ประโยชน์ เช่น นำมาผลิตเป็นยาทาเฉพาะที่สำหรับบรรเทาอาการปวด บางสูตรตำรับพัฒนาเป็นลักษณะพลาสเตอร์ปิดทับผิวหนังซึ่งจะใช้ความเข้มข้นของสารแคปไซซินอยู่ที่ 0.025% – 0.25% และสารแคปไซซินยังถูกนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมบรรจุในรูปแบบแคปซูลสำหรับรับประทานโดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มการเผาผลาญอีกด้วย แต่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยยืนยันว่าช่วยลดน้ำหนักได้ประกอบกับแคปไซซินที่ใช้ในการศึกษาวิจัยเป็นสารสกัดจากพริกและปริมาณที่ใช้ในการศึกษาเป็นปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร

การกินพริกปริมาณมาก ๆ เพื่อหวังลดน้ำหนักหรือเล่นเร่งเผาผลาญไม่ควรทำ เพราะสารแคปไซซินในพริกทำให้ระคายเคืองเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหารจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร เพราะกระเพาะอาหารต้องรองรับอาหารเผ็ด ๆ ตั้งแต่กินเข้าไปจนกว่าอาหารจะถูกย่อยจนหมด จึงอาจเกิดอาการแสบท้องเมื่อกินเผ็ดได้ ส่วนคนที่เป็นโรคกระเพาะอยู่แล้ว ก็อาจทำให้อาการโรคกระเพาะกำเริบด้วย เพิ่มการหลั่งกรดอาจจะทำให้แสบท้องท้องอืดและปวดท้อง อีกทั้งเกิดกรดไหลย้อนกำเริบ เพราะพริกมีความเป็นกรดในตัวเอง หากกินเผ็ดมาก ๆ ความเป็นกรดในพริกอาจเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนขึ้นมาได้

นอกจากนี้ การรับประทานเผ็ดมากเกินไปยังทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ด้วย เพราะสารแคปไซซินในพริกมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ร่างกายไม่สามารถย่อยสารแคปไซซินได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ร่างกายจึงต้องขับสารแคปไซซินที่ไม่ถูกย่อยในระบบอาหารออกมาในรูปแบบการขับถ่าย สารแคปไซซินในพริกยังทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ร่างกายจะมีกลไกช่วยระบายความร้อน โดยขับให้เหงื่อออก กระตุ้นให้ดื่มน้ำเข้าไปมาก ๆ ทำให้เราถ่ายเหลว คล้ายอาการท้องเสีย 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง