ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น้ำมันขับพยาธิ สูตรรากเหง้าชะพลู แก้ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม บรรเทาอาการไอ หอบหืด สูตรนี้ครอบจักรวาล รักษาได้ขนาดนี้จริงหรือมั่ว! 

ตามที่มีข้อความในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องน้ำมันขับพยาธิ สูตรรากเหง้าชะพลู แก้ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม บรรเทาอาการไอ หอบหืด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ พร้อมชี้แจงว่า น้ำมันขับพยาธิ สูตรรากเหง้าชะพลู ตามที่ปรากฏดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสูตรส่วนประกอบของสมุนไพร โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คือ แก้ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยให้ลูกน้อยเจริญอาหาร บรรเทาอาการไอ หอบหืด ช่วยให้หลับสนิท ช่วยขับพยาธิทุกชนิด ซึ่งจากการสืบค้นในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ไม่พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแต่อย่างใด  

พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้จากหลากหลายทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า พยาธิที่เข้าทางปาก เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ลำไส้บางชนิด พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ปอด และพยาธิหอยโข่ง พยาธิบางชนิดยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง เช่น พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย ส่วนพยาธิตัวจี๊ด เข้าสู่ร่างกายได้ทางสายรกในครรภ์ด้วย

อาการสำคัญที่ทำให้รู้ว่า กำลังมีพยาธิอยู่ในร่างกาย ได้แก่ 

  • หิวบ่อยและทานอาหารมาก 
  • น้ำหนักลด 
  • ท้องอืด 
  • ท้องเฟ้อ 
  • ท้องเสีย 
  • เจ็บและบวมตามผิวหนัง 
  • เจ็บหน้าอก 
  • ไอเป็นเลือด 
  • แพ้และมีผื่นคันหรือเป็นแนวแดง ๆ บนผิวหนัง 
  • มีตุ่มนูนจำนวนมากขึ้นตามผิวหนัง 
  • เป็นไข้ 
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย 
  • ปวดศีรษะ 
  • ตาพร่ามัว 

พยาธิที่อาศัยร่างกายของเราจะแย่งอาหาร ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการแพ้ต่อสารที่ขับออกมาจากตัวพยาธิ ทำลายสุขภาพจิต เป็นอัมพาต และอาจถึงแก่ชีวิตได้ 

สำหรับพยาธิที่ต้องระวัง คือ โรคพยาธิตัวตืด พบได้บ่อยในเมืองไทย จากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุกหรือสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีถุงซีสต์ ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ข้างใน คนทั่วไปเรียกเม็ดสาคู เมื่อเข้าสู่ร่างกายซีสต์จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเกาะอยู่ที่ผนังลำไส้เล็กของคนสามารถอยู่ได้นานหลายปี ตัวเต็มวัยมีลำตัวแบนคล้ายริบบิ้น มีสีขาว ยาว 2 ถึง 3 เมตร หรือมากกว่า พยาธิดำเนินชีวิตครบวงจรในคน หมายความว่าสามารถโตเต็มวัย จนสืบพันธุ์และไข่ปนออกมาทางอุจจาระ บางครั้งอาจมีปล้องพยาธิหลุดปนออกมากับอุจจาระได้ หากคนนั้นอาเจียนขย้อนปล้องแก่ของพยาธินี้ จากลำไส้ขึ้นไปที่กระเพาะ พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้ว ไชทะลุกระเพาะหรือลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อ หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด และในช่องท้องแล้วฝังตัวและมีถุงน้ำหุ้ม จะมีอาการและอาการแสดงต่าง ๆ ขึ้นกับตำแหน่งถุงซีสต์ ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด ถ้าถุงซีสต์อยู่ในสมองผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ถุงซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลัง ทำให้ความดันในสมองสูง อาจจะทำให้เกิดอาการชักได้

ส่วนการรับประทานอาหารประเภทเนื้อวัว-ควายสด เช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ซอยห่าง แหนมดิบ (อาหารอีสาน) ลาบดิบ ส้า จิ้นส้ม (อาหารเหนือ) ต้องระวัง โรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิเรียกว่า เม็ดสาคูในเนื้อ ตัวอ่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว 5-10 เมตร อาจยาว 25 เมตร มี 1,000-2,000 ปล้อง ปล้องสุกจะหลุดออกมา 3-4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคืบคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน อายุอยู่ในลำไส้คน 10-25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้ คนติดโรคจะมีอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้

การเลือกรับประทานอาหารให้ใช้หลักมาตรฐานอาหารปลอดภัย ควรจะเลือกซื้อเนื้อสดจากสถานที่ที่วางใจได้ ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์ รับประทานอาหารต้ม ปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ให้สุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกด้วยความร้อน หรือผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี หรือเก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20 ˚c นานเกิน 12 ชั่วโมง สำหรับผู้ปรุง ประกอบอาหาร ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนก่อนปรุง/รับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง 

หากมีอาการผิดปกติ สงสัยว่าเป็นโรคพยาธิ ควรมาตรวจที่โรงพยาบาล นำอุจจาระหรือเสมหะหรือสิ่งที่สงสัยว่าเป็นพยาธิใส่ภาชนะที่สะอาดมาด้วย เนื่องจากพยาธิมีหลายชนิดและยารักษามีหลายอย่าง อย่าถ่ายพยาธิเอง ควรมาพบแพทย์

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง