ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต-สสส.-มสช. สานพลัง สร้างต้นแบบท้องถิ่นสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชนด้วยกลไกชุมชน 5 ภูมิภาค จัดเวทีถอดความสำเร็จ ขยายผลขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชนเชิงรุกให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต และภาคีเครือข่าย จัด “เวทีสานพลังส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ครั้งที่ 1”  เพื่อถ่ายทอดบทเรียนความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่น 5 ภูมิภาค 10 พื้นที่ต้นแบบเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตเชิงรุก นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2580) มียุทธศาสตร์สำคัญคือ ส่งเสริมคนทั่วไปให้เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ เสริมสร้างให้คนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต มีทัศนคติที่ดีต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช จากการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่ากลุ่มคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป ช่วงวัยเยาวชน (15-24 ปี) มีคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าวัยอื่น ขณะที่คะแนนสุขภาพจิต 5 ด้าน พบว่าด้านปัจจัยสนับสนุนสูง 82.0 % ด้านสภาพจิตใจที่มีความรู้สึกไม่ดี มีคะแนนมากที่สุด คิดเป็น 88.6%  ด้านที่อ่อนแอที่สุด คือ ด้านสมรรถภาพของจิตใจ 64.3% ซึ่งองค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ควรมุ่งพัฒนาสมรรถภาพของจิตใจเป็นหลัก

เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตเชิงรุก

 


 
“โครงการนี้ มุ่งควบคุม หรือลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ให้ความสำคัญการแลกเปลี่ยนการทำงานเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอสาธารณะ ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทดูแลคนในพื้นที่และกลุ่มคนเปราะบาง การทำงานแบ่งเป็น 2 กลไกหลัก 1. การมี มสช. เชื่อมโยงและสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ หน่วยงานด้านสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และอื่นๆ 2. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตคนในพื้นที่ทุกช่วงวัยแบบเชิงรุก ซึ่งความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่นทั้ง 5 ภูมิภาค 10 พื้นที่ ที่ได้ดำเนินโครงการและสร้างต้นแบบในด้านกลุ่ม อปท. กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มกลไกทางศาสนา และกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพ จะถูกถ่ายทอดเป็นโมเดลขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” นพ.ศิริศักดิ์ กล่าว

 

ปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน

ด้าน นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. และ มสช. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น ผ่านโมเดลความสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดีทุกช่วงวัย เน้นความสามารถเข้าใจจิตใจตนเองและจิตใจบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ซึ่งต้องอาศัยการสานพลังภาคีเครือข่ายทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล โรงพยาบาล รพสต. ตำรวจ และอีกหลายฝ่าย มีกลไก มาตรการส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน เกิดข้อเสนอนโยบายความร่วมมือภายในชุมชนท้องถิ่นที่สามารถดูแลกันเองได้ พร้อมอบรมแกนนำให้ได้รับพัฒนาศักยภาพ เข้าใจผู้มีปัญหาสุขภาพจิต สามารถทำให้เพื่อนในชุมชนมีความหวัง มีพลังใจ จัดการปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนนำไปปรับใช้ดูแลตัวเองได้ด้วย

ทั้งนี้ หากประชาชน มีอาการเครียด ภาวะซึมเศร้า อาการประสาท หรือจิตเวชอื่นๆ ชุมชนเป็นจุดจัดการสำคัญมาก ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เรามีการประชุมตำรวจในพื้นที่ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมเข้าใจในเรื่องปัญหาจิตเวช ซึ่งจะทำงานเชื่อมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ในการรับมือกับผู้ป่วยที่มีอาการคลุ้มคลั่งและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ เป็นบทบาทของชุมชนที่ต้องเข้มแข็ง และเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายเดียวกัน ได้เห็นเป้าหมายตรงกัน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาต้นทางที่สังคมไทยรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น โดยชุมชนมีหน้าที่ชัดเจน อาทิ โรงเรียนจะทำอย่างไรให้ไม่มีการเกิดทะเลาะวิวาท ไม่มีการทำร้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น วาจาหรืออาวุธต่างๆ ขณะนี้แกนนำชุมชนต่างๆ ถือว่ามีความเข้มแข็งมากพอสมควร 

ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น

ด้าน นายยุทธ บุญเกษ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กล่าวถึงเรื่อง เสมาโมเดล : ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น ว่า การดำเนินงานครั้งนี้เกิดจากการแพร่ระบาดสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เนื่องจากเราเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราเห็นพี่น้องในชุมชนได้ประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การขายลอตเตอรี่ การถูกตัดสิทธิ์สลากกินแบ่งรัฐบาล ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งยกตัวอย่าง กรณีที่เกิดขึ้นมีการฆ่าตัวตายจากการซื้อลอตเตอรี่ เราจึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆไม่ว่าจะเป็น อบต. ภาคเอกชน รัฐบาล บ้าน วัดโรงเรียน โรงเรียนกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน อสม. รพ.สต. อสส. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อร่วมกันศึกษาปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร   

ซึ่งการจัดอบรมรอบแรก เราก็ได้เห็นว่าปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างไรจากนั้นมีการเสนอโครงการมาที่ สสส. และได้นำงบประมาณมาจัดตั้ง องค์กรเพื่อส่งเสริมสุขภาพชุมชนมีการเรียนรู้ร่วมกัน ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชน  มีการลงพื้นที่นำแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูล  นอกจากนี้เรายังมีการใช้เครื่องมือคือ เรื่องความสุขของคนไทย ผลลัพธ์ที่ได้คือ เราได้สร้างนักส่งเสริมสุขภาพจิตให้เกิดขึ้นจริง เพื่อดูแลสุภาพจิตในชุมชน มีการวัดประเมินทุกระยะ ซึ่ง เสมาโมเดล : ป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น นี้ เกิดขึ้นได้จากภาคประชาชน ภาคเอกชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีของประชาชน เรามั่นใจว่าจะดำเนินงานและเดินหน้าต่อยอดไปตลอด

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org