ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันยุวทัศน์ฯ ยืนยัน “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนอย่างมาก ทำให้การพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโตเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ชี้อุตสาหกรรมยาสูบคิดร้ายพุ่งเป้าทำการค้าเด็กและเยาวชน 

วันที่ 22 มี.ค. 66 นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาวิชาการ “กัญชาเสรีแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าควรถูกกฎหมายได้หรือยัง” จัดโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี ว่า ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนอย่างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนผสมของนิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่ซองและมีผลต่อระบบสมอง ทำให้การพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโตเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนในไทย

ส่วนสาเหตุของการเกิดกระแสนิยมบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนในไทย มีผลมาจากการทำการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบที่พุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชน ออกแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ภาพลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน กลิ่นหอม และทำให้การตรวจจับทำได้ยากลำบาก เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับเครื่องเขียนของนักเรียน นักศึกษา รวมถึงครูและผู้ปกครองยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้อง

“หากวันนี้เราเข้าไปยังสถานที่รวมกลุ่มของเด็กและเยาวชน เช่น สถานบันเทิง หรือสนามฟุตบอล เราจะพบว่าเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยห้อยบุหรี่ไฟฟ้าที่คอลงมาเล่นฟุตบอลในสนามกันหมดแล้ว ซึ่งจากเดิมทราบกันดีว่านักกีฬากับบุหรี่เป็นของตรงข้ามกัน เนื่องจากจะทำให้สุขภาพของนักกีฬาไม่แข็งแรง แต่พอมีบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาความเข้าใจของเด็กและเยาวชน โค้ชนักกีฬา เปลี่ยนแปลงทัศนคติไปหมด ซึ่งเรื่องนี้เป็นความตั้งใจของผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชนและสร้างภาพให้เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีนิโคตินไม่แตกต่างจากเดิม” นายพชรพรรษ์ กล่าว

นายศิรชัช หาญวิวัฒนกูล ผู้แทนนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้ดีเอ็นเอของเซลล์ในช่องปากถูกทำลายไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็ง โดยคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องปากถูกทำลายเป็น 2.6 เท่า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาพบดีเอ็นเอถูกทำลายเป็น 2.2 เท่าเมื่อเทียบกันคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ 

ผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า

นายศิรชัช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สารประกอบและสารทำละลายต่าง ๆ ในบุหรี่ไฟฟ้า ยังพบโพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบสำหรับทำให้เกิดไอระเหย กลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมกับสารโพรไพลีนไกลคอล แม้องค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงความปลอดภัยว่า เมื่อกลายสภาพเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความปลอดภัยต่อประชาชน จึงเห็นตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้มีการคงไว้ซึ่งมาตรการควบคุมไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ทั้งนี้ในฐานะนักศึกษาแพทย์ยังเชื่อว่าการเลิกสูบบุหรี่ ด้วยการเข้าระบบการรักษาเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ เนื่องจากจริยธรรมของแพทย์นั้นไม่สามารถแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าอันตรายเป็นเครื่องมือในการรักษาสุขภาพได้

ทั้งนี้ ในงานเสวนาโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมเสวนาเพิ่มเติม ประกอบด้วย นายธาราธร นิลจรัสวณิช ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครรังสิต นายกมลวัฒน์ มนูญภัทราชัย อดีตประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง