ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แปรงสีฟันรูปตัวยู ไม่ช่วยแปรงฟันให้ทั่วถึง

อย่าเชื่อเรื่องการใช้ แปรงสีฟันรูปตัวยู ลดปัญหาทางช่องปาก สำหรับเด็กวัย 2-12 ปี เพราะไม่อาจแปรงฟันได้สะอาดทั่วถึง ไม่สามารถขจัดคราบจุลินทรีย์จนหมดจด 

จากข้อมูลในโลกออนไลน์ระบุว่า หมอแนะนำให้เด็กอายุ 2-12 ปี ใช้ แปรงสีฟันรูปตัวยู เข้ากับช่องปากของเด็ก ขนแปรงนิ่ม ไม่เจ็บทำให้เด็กไม่ต่อต้านการแปรงฟัน ทำให้แปรงฟันได้สะอาด สร้างนิสัยดูแลสุขภาพช่องปากให้กับลูกนั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบกับ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง 

สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ด้วยลักษณะหรือรูปร่างของ แปรงสีฟันรูปตัวยู ไม่อาจแปรงฟันทั่วถึง หมดจดจนซี่ในสุด ขนาดของแปรงสีฟันที่ว่าพอดีก็ไม่ได้พอเหมาะกับช่องปากเด็ก อีกทั้งขนแปรงที่นิ่มเกินไปไม่ใช่ว่าจะดี แต่ขนแปรงนิ่มไม่อาจขจัดคราบจุลินทรีย์ให้ทั่วจนหมดได้ ทั้งนี้ การเลือกใช้แปรงสีฟันสำหรับเด็กทั่วไป มาแปรงฟันให้ถูกวิธีก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้ช่องปากของลูกน้อยสะอาด ขจัดคราบจุลินทรีย์ได้อย่างทั่วถึง

"ไม่จริง! หมอแนะนำเด็กอายุ 2-12 ปี ใช้ แปรงสีฟันรูปตัวยู ทำความสะอาดฟัน"

การดูแลช่องปากที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องใช้ แปรงสีฟันรูปตัวยู 

ไม่ต้องใช้ แปรงสีฟันรูปตัวยู ก็สะอาดได้ เพราะความสำคัญอยู่ที่การแปรงฟันให้ทั่ว ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำวิธีดูแลฟันเด็กจนถึง 12 ขวบ ว่า เมื่อลูกมีฟันน้ำนมเริ่มขึ้นจนถึง 3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรแปรงฟันให้กับเด็ก ใส่ยาสีฟันให้พอเปียกขนแปรงสีฟัน แล้วจึงเช็ดฟองยาสีฟันออกหลังแปรงฟันด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด สำหรับขนาดของยาสีฟันที่ใส่ลงบนแปรงสีฟันควรเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก โดยมีวิธีแปรงฟันเด็กให้เหมาะสม ดังนี้

  • เด็กวัย 3-6 ขวบ ใช้ขนาดยาสีฟันเท่าเมล็ดถั่วเขียว ช่วงอายุเท่านี้ควรฝึกให้เด็กลองแปรงฟันเองก่อน จากนั้นค่อยช่วยแปรงฟันซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้การทำความสะอาดช่องปากนั้นทั่วถึง ท่าแปรงฟันสำหรับเด็กที่เหมาะสม เด็กนั่งหรือนอนก็ได้ แต่ต้องหงายศีรษะวางบนตักของผู้ใหญ่ที่แปรงฟันให้ ใช้โคมไฟช่วยส่องให้มองเห็นในปาก
  • เด็กวัย 6-12 ขวบ เด็กช่วงอายุนี้ ควรดูแลตัวเองได้ แปรงฟันได้เอง แต่พ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องคอยสังเกต ช่วยตรวจดูฟันอีกครั้งว่า ลูกแปรงฟันได้สะอาดหรือไม่ และเมื่อก้าวเข้าสู่อายุ 12 ปีแล้ว เด็กควรแปรงฟันได้เองเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
  • ให้เด็กใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟัน วิธีนี้จะช่วยลดคราบอาหารที่ติดฟัน การแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ก็จะเข้าสู่ผิวฟันดีขึ้นหากใช้ไหมขัดฟันก่อนการแปรงฟัน
  • หลังจากที่แปรงฟันแล้ว 30 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง ไม่ควรดื่มเครื่องดื่ม ไม่ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร

การดูแลช่องปากและสุขภาพฟัน ยังต้องใส่ใจถึงอาหาร ขนม และเครื่องดื่มด้วย ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมขบเคี้ยวที่เหนียวติดฟัน มีรสหวานจัด หรือเค็มจัด แต่ควรฝึกนิสัยให้เด็กรับประทานผลไม้ที่มีใยอาหารสูง เต็มไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่ดีต่อสุขภาพ

เมื่อดูแลสุขภาพฟันและช่องปากเป็นอย่างดีแล้ว ควรเริ่มพาเด็กมาพบทันตแพทย์เมื่ออายุ 2-3 ปี หมั่นตรวจฟันทุก 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องรอให้ฟันผุเสียก่อน

"ไม่จริง! หมอแนะนำเด็กอายุ 2-12 ปี ใช้ แปรงสีฟันรูปตัวยู ทำความสะอาดฟัน"

แปรงฟันให้ดีช่วยลดปัญหา ฟันน้ำนมผุ

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฟันน้ำนมผุ เกิดได้กับเด็กที่อายุยังไม่ครบ 1 ปี เพราะชั้นเคลือบฟันน้ำนมบางประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้ ฟันน้ำนมจึงผุได้ง่ายกว่าฟันแท้ และมักจะเกิดขึ้นกับฟันน้ำนมซี่หน้าบน สาเหตุสำคัญ คือ เด็กดูดนมแล้วหลับคาขวด จึงไม่ควรปล่อยให้เด็กดูดนมจนหลับคาขวด เพราะแบคทีเรียในช่องปากย่อยน้ำตาลในนม จนเกิดเป็นกรดทำลายเคลือบฟันของเด็ก หรือแม้แต่พฤติกรรมการรับประทานขนมเหนียว การไม่ยอมแปรงฟันหรือแปรงฟันไม่สะอาด เกิดฟันน้ำนมผุได้ง่าย

อาการของเด็กเมื่อ ฟันน้ำนมผุ

  • เด็กจะปวดฟันมาก
  • เมื่อตรวจช่องปากจะพบฟันผุเป็นหนอง
  • มีเชื้อโรคในช่องปาก โดยเฉพาะฟันกราม

เมื่อลูกเริ่มปวดฟันควรรีบพบทันตแพทย์ ถ้าฟันน้ำนมผุจนลุกลามอาจถูกถอนฟันน้ำนมได้ จึงควรรีบมารับคำแนะนำ วิธีดูแลทันตสุขภาพที่ถูกต้อง พร้อมกับเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด

วิธีรักษาฟันน้ำนมผุ

ทันตแพทย์จะให้รักษารากฟันน้ำนมในเด็ก ยังไม่ถอนออกจนกว่าฟันแท้จะขึ้น เพราะการเก็บรักษาฟันน้ำนมจนใกล้เวลาฟันแท้จะขึ้น จะช่วยให้เด็กได้ใช้ฟันในการเคี้ยวอาหาร ใช้เป็นที่เก็บรักษาช่องว่างเพื่อให้ฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ขึ้นได้อย่างเหมาะสม ส่วนฟันน้ำนมซี่หน้ายังมีประโยชน์ในการช่วยออกเสียงให้ชัดเจนและสวยงาม เด็กจะมั่นใจในการพูดคุย อย่างไรก็ตาม หากฟันน้ำนมผุจนทะลุโพรงประสาทฟัน เมื่อถ่ายประเมินภาพรังสีแล้ว ยังสามารถจะเก็บรักษาฟันน้ำนมได้ ทันตแพทย์เด็กจะให้รักษารากฟันน้ำนมไว้ 

สำหรับผลเสียเมื่อสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลา จะทำให้สูญเสียช่องว่างบริเวณฟันที่ถูกถอนไป ฟันซี่ข้างเคียงมีโอกาสล้มเอียงมาปิดช่องว่างได้ 

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของเด็ก

  1. แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน 
  2. ใช้เวลาแปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที 
  3. เลือกใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ เลือกยาสีฟันสำหรับเด็กที่รสชาติไม่เผ็ด

การดูแลสุขภาพช่องปากของลูก ไม่จำเป็นต้องใช้ แปรงสีฟันรูปตัวยู แต่ควรใส่ใจเรื่องการเลือกยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ แปรงฟันให้ทั่วถึงเป็นประจำตามคำแนะนำ และพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ฟันน้ำนมไม่สำคัญ? ปล่อยไว้ไม่นานฟันแท้ก็ขึ้นแทน

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง