ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ

สสส. สานพลัง ศวพช. - ม.สยาม - เขตภาษีเจริญ ลงพื้นที่ชุมชนพูนบำเพ็ญ เปิดป้าย ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ ต้นแบบนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย ชวนสถาบันการศึกษาเข้าร่วม ขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ที่ชุมชนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม, ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.), สำนักงานเขตภาษีเจริญ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมสังคมสูงวัย พร้อมเปิดป้าย ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนพูนบำเพ็ญ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. ตระหนักและให้ความสำคัญกับการสถานการณ์ “สังคมสูงวัย” ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของคนไทย จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พัฒนารูปแบบการดำเนินงาน “ธนาคารเวลา” นวัตกรรมทางสังคมในการช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนการดำเนินการกว่า 80 พื้นที่ โดย ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ เป็นหนึ่งในเครือข่ายธนาคารเวลาที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่ยกระดับจากการทำงานที่ผ่านมา  มีข้อตกลงร่วมกัน เช่น 1.มีสถานที่ทำการธนาคารเวลาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ รองรับการศึกษาดูงานของภาคีเครือข่าย 2.มีผู้จัดการ คณะทำงาน คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง 3.มีฐานข้อมูลสมาชิกธนาคารเวลาและมีการสะสมเวลาต่อเนื่อง 4.มีกองทุนธนาคารเวลาขับเคลื่อนการดำเนินงานระยะยาว เพื่อทำให้เป็นต้นแบบและองค์ความรู้ ขับเคลื่อนกลไกระดับประเทศ 

"ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ รองรับสังคมสูงวัย"

“สสส. สนับสนุนการพัฒนาโมเดลที่หลากหลาย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานร่วมกันของเครือข่ายต่างๆ การสนับสนุนเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เช่น คู่มือการจัดตั้งธนาคารเวลา ระบบฐานข้อมูล application ที่สนับสนุนการทำงานของธนาคารเวลาและสมาชิก รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจ และเกิดความสนใจในการร่วมขับเคลื่อนธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัยโดยภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง” นางภรณี กล่าว

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ รองรับสังคมสูงวัย

ผศ.ดร.เนตร หงษ์ไกรเลิศ ผอ.โครงการธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ กล่าวว่า ปัจจุบันเขตภาษีเจริญ ขับเคลื่อนให้เกิดธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย 7 แห่ง ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และสานพลังภาคีเครือข่าย มีกระบวนการทำความเข้าใจ เรียนรู้แนวคิด และหลักการจัดตั้งธนาคารเวลา ให้เหมาะสมตามบริบทชุมชน ยอมรับว่าธนาคารเวลาเป็นประเด็นใหม่ที่ต้องสร้างความเข้าใจ ให้เกิดความเข้มแข็งสู่การขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายได้สำเร็จ เขตภาษีเจริญ มีเป้าหมายทำให้คนในพื้นที่เกิดความเท่าเทียม สามารถใช้ทักษะที่ชอบมาทำในสิ่งที่ใช่และถนัดในชุมชนได้ เพื่อทำให้สมาชิกเห็นคุณค่าของตนเองและเชื่อใจกัน มีผู้จัดการธนาคารเวลาเป็นคนกลางสานสัมพันธ์และทำความเข้าใจ เรื่องการออมเวลารองรับการช่วยเหลือยามจำเป็นโดยไม่ใช้เงิน

นางเยาวะสกุล ทองธัญวีรัตน์ ผอ.เขตภาษีเจริญ กล่าวว่า ได้ร่วมเป็นกลไกหนึ่งที่หนุนเสริมธนาคารเวลาต่อเนื่องกับทีมงาน นับเป็นความท้าทายที่ต้องปรับกระบวนคิดและการพัฒนา ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งระดับพื้นที่ บทเรียนใน 7 พื้นที่มีความสำคัญมาก และเห็นด้วยกับการพัฒนาที่มุ่งดำเนินงาน เชิงคุณภาพให้เกิดความเข้าใจตรงกันและถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่ร่วมคิด ร่วมพัฒนา เป็นเจ้าของประเด็นร่วมกันได้ เชื่อว่าผลลัพธ์จากการดำเนินงาน ด้วยกระบวนการเชิงคุณภาพจะทำให้เกิด ผลงานเชิงปริมาณตามมา สำนักงานเขตภาษีเจริญ พร้อมหนุนเสริม ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน ผลักดันให้เกิดธนาคารเวลา นวัตกรรมใหม่ที่เน้นดำเนินงานทุกกลุ่มวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุต่อไป

ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี ม.สยาม กล่าวว่า สังคมสูงวัยส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่เพียงผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมของเยาวชน ให้เรียนรู้ ร่วมพัฒนา บูรณาการด้านการเรียนการสอนเกี่ยวกับธนาคารเวลาสำหรับคนทุกกลุ่มวัยในภาษีเจริญเป็นเรื่องสำคัญ ม.สยาม เป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ในพื้นที่ อยากเชิญชวนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ศึกษาดูงาน บรรจุแนวคิดธนาคารเวลาในรายวิชา ทำกิจกรรมสร้างความเข้าใจเรื่องการออมเวลา ควบคู่กับการออมเงินเตรียมความพร้อมในวัยเกษียณ เพื่อทำให้เกิดพลังในพื้นที่ พลังครอบครัวที่ยั่งยืนในสังคมสูงวัย

"ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ รองรับสังคมสูงวัย"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ธนาคารเวลา นวัตกรรมใหม่ ช่วยรองรับสังคมสูงวัยในเมืองไทยได้อย่างไร

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง