โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยถึง โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ว่า อาการเส้นเลือดสมองโป่งพอง ความผิดปกติเกิดจากการบางลงของผนังหลอดเลือดสมอง จนผนังเส้นเลือดสมองโป่งพอง ลักษณะไปคล้ายกับบอลลูน เมื่อโป่งพองแล้วจะเสี่ยงแตกออกได้ง่าย
โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) ภาวะของผนังหลอดเลือดอ่อนแรงลงจึงเกิดอาการโป่งพอง ส่วนมากพบว่าเป็นกับหลอดเลือดแดง แต่ก็สามารถเกิดได้กับหลอดเลือดดำได้ด้วย โดยเส้นเลือดสมองโป่งพองแบ่งออกเป็น
- เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก เกิดการกดทับเส้นประสาทข้างเคียง เช่น ปวดร้าวบริเวณใบหน้าหนังตาตก มองเห็นภาพซ้อน หรือมีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 เซนติเมตร อาการที่มักจะเกิด คือ ชักหรืออ่อนแรงได้ เพราะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ขนาดใหญ่ เลือดอาจไหลวนอยู่กายใน เกิดลิ่มเลือดขึ้นจนหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการสมองขาดเลือด
- เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้ว หากเส้นเลือดสมองโป่งพองจนแตกแล้ว เลือดที่ออกจะทำให้ความดันในกะโหลกสูงขึ้น เกิดภาวะเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง เกิดอาการอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน บริเวณต้นคอ ก้มคอไม่ได้ มีอาการคลื่นใส้ อาเจียน ชักหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ถ้าร่างกายหยุดเลือดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที หากเลือดหยุดได้เอง จะเกิดเลือดออกในชั้นต่าง ๆ ของสมอง อาทิ เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ หรือเลือดออกในเนื้อสมอง
อันตรายของโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
เมื่อเส้นเลือดโป่งพองถึงจุดหนึ่งจะแตก ทำให้เกิดเลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ ภาวะนี้เองที่นำไปสู่ความพิการ หรือร้ายแรงกว่านั้นถึงขั้นเสียชีวิต โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง มักเกิดขึ้นกับเส้นเลือดบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ พบบ่อยในช่วงอายุ 30-60 ปี
สาเหตุของ โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
- ความผิดปกติแต่กำเนิด
- โรคทางพันธุกรรมเส้นเลือดแข็งตัวและเสื่อม
- ภาวะการติดเชื้อ
- มีการอักเสบในร่างกาย
- มีเนื้องอกบางชนิด
- อุบัติเหตุ
สัญญาณอันตราย โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงมักเป็นทันทีทันใด
- คลื่นไส้อาเจียน
- หมดสติ
- การถูกกดทับเส้นประสาท เช่น คอแข็ง หรือปวดร้าวบริเวณใบหน้า
- การอุดตันของหลอดเลือด อาการชัก
การวินิจฉัย โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง
แพทย์จะส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และตรวจหลอดเลือดในสมอง เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือด ได้แก่
- เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (CTA)
- ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (MRA)
- การเจาะหลังใช้เมื่อต้องการพิสูจน์ภาวะเลือดออกมาช่องใต้เยื่อหุ้มสมองอะแร็คนอยด์
หากมองไม่เห็นใน CT Scan จะรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัดและรังสีร่วมรักษาโดยอุดหลอดเลือด บางรายต้องใช้การรักษาทั้ง 2 แบบร่วมกัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการโตหรือแตกของเส้นเลือดโป่งพอง
วิธีป้องกัน โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ เลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เน้นผัก ผลไม้ ที่หวานน้อย น้ำตาลต่ำ มีกากใยสูงแทน ควรรักษาระดับความดันโลหิต ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ภัยเงียบ ‘หลอดเลือดสมองโป่งพอง’ สาเหตุ พิการ-เสียชีวิต
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 189 views