ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า

คกก.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ เห็นชอบ 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เน้นป้องกันกลุ่มเด็กและเยาวชน 

คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศไทย เน้นป้องกันเด็ก เยาวชน ประชาชนทุกคน ไม่ให้เสพติดและได้รับพิษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ปลัดกระทรวงหรือผู้แทนปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสสส. เข้าร่วมประชุม

"5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า"

5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เน้นป้องกันกลุ่มเด็กและเยาวชน 

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 78,7 42 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่กำลังเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าว ที่ประชุมจึงมีการพิจารณามาตรการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และมีมติเห็นชอบ 5 มาตรการ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ได้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ได้แก่

  1. การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้
  2. การสร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน
  3. การเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  4. การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  5. การยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า

โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2.ด้านบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้ผลักดันยาเลิกบุหรี่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนการบำบัดรักษาและการติดตามผลการบำบัดผู้มีภาวะติดนิโคติน ได้ทำแนวทางให้กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่นำไปดำเนินการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างต้นแบบชุมชนเป็นฐานในการคัดกรองและการส่งต่อ 3.ด้านกฎหมาย และ 4.ด้านการเร่งรัดติดตามการดำเนินงานคดีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 โดยล่าสุด มีคดีที่อยู่ในขั้นพนักงานสอบสวน 72 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 35 คดี เปรียบเทียบ/คดีสิ้นสุด 37 คดี ส่วนการเฝ้าระวังในช่องทางออนไลน์ โดยกรมควบคุมโรค พบ 212 ราย อยู่ระหว่างการสืบสวน 118 ราย และปิดการใช้งานแล้ว 94 ราย สำหรับการดำเนินคดีเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า (ข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566) เป็นคดีที่มีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ/ตรวจพบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 435 คดี ซึ่งทำการจับกุมแล้ว เหลือเพียง 1 คดีที่อยู่ระหว่างการสืบสวน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดตัวบทกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า...ครอบครอง นำเข้า จำหน่ายถือว่าผิด..มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org