ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ เผยไกด์ไลน์รักษาโควิด19 ยังเหมือนเดิม ส่วน รพ.รามาธิบดี ไม่ใช้ LAAB หรือ โมลนูพิราเวียร์ แต่ยังมียาตัวอื่นตามดุลยพินิจแพทย์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตรียมประชุมสัปดาห์หน้า! พิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติ รักษาโควิดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไกด์ไลน์ใหม่หรือไม่

 

จากกรณีโรงพยาบาลรามาธิบดี ออกแนวทางมาตรการรองรับกรณีการรักษาโรคโควิด19  เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ใจความสำคัญให้เตรียมรับการรักษาหลังพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น และอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูปหรือ LAAB  ซึ่งแนวทางการรักษาล่าสุดไม่ได้มีการให้ LAAB และโมลนูพิราเวียร์ ขณะนี้ผอ.รพ.รามาฯ แจงเหตุผลแล้วนั้น (ข่าวเกี่ยวข้อง : ผอ.รพ.รามาฯ เผยไกด์ไลน์รักษาโควิดล่าสุด ตัด LAAB - โมลนูฯ เพราะสายพันธุ์เปลี่ยน แต่ยังไม่รุนแรง )   แต่ก็ยังเกิดข้อสงสัยว่า สายพันธุ์ลูกผสม ณ ขณะนี้มีความน่ากังวลหรือไม่ ยาที่มียังรักษาได้หรือไม่อย่างไร 

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ  

ใช้แนวทางเวชปฏิบัติรักษาโควิด19 ฉบับเดิม LAAB ยังใช้ได้

ประเด็นที่ 1

สำหรับไกด์ไลน์การรักษาโรคโควิด หรือแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังใช้ฉบับเดิม และล่าสุดเกี่ยวกับการใช้ LAAB ก็เพิ่งจะประกาศโดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข  กรมควบคุมโรค  กรมการแพทย์ ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยต่างๆ เช่น   ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย และสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ในการประกาศเรื่อง การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB (Long Acting Antibody) สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ และการรักษาโควิด19 ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 2

ส่วนเรื่องยาโมลูพิราเวียร์ หรือฟาวิพิราเวียร์ ณ วันนี้รัฐบาลไม่ได้ซัพพอร์ตยากลุ่มนี้ ทางรพ.รามาธิบดีไม่ได้มีการจัดหาดังกล่าว แต่มียาตัวอื่นที่รักษาโควิดได้ อีกทั้ง ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมีภูมิคุ้มกันโควิดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีน หรือติดเชื้อเอง ซึ่งคนติดเชื้อตอนนี้อาการก็จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ การจะรักษาและการให้ยาขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์   

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้บางส่วนกังวลว่า การรักษาด้วย LAAB อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพดีพอหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า จากการประกาศของผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า LAAB ยังมีประสิทธิภาพใช้ได้อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มจำเป็นต้องใช้ เช่น คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น ก็ยังต้องใช้ LAAB เพียงแต่คนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ประสิทธิภาพอาจไม่เท่ากับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งหมดอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลักว่า อาการ ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. และ สมาคมแพทย์ฯ ยันการฉีด LAAB มีประสิทธิภาพสูง ชี้แนวทางการส่งเสริมสุขภาพด้านร่างกาย-จิตใจ)

ผู้เชี่ยวชาญประชุมไกด์ไลน์รักษาโควิดสัปดาห์หน้า

“ในสัปดาห์หน้าผู้เชี่ยวชาญจะมีการประชุมแนวทางการรักษาโรคโควิดว่า จะต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร ส่วนสายพันธุ์โควิดลูกผสม ณ ขณะนี้จากการติดตามของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยังไม่ได้รุนแรง  ผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มอย่างน่ากังวล” นพ.ธงชัย กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org