ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน TCELS Life Sciences Beyond Aspiration ซึ่ง TCELS โดยความร่วมมือของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Center of Excellence for Life Sciences (TCELS) ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ติดอันดับ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เป็นโอกาสของ SMEs มากกว่า 6,000 ราย

“จากการจัดงานดังกล่าวได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 3-5% แบ่งเป็น การผลิตในประเทศ 30% และนำเข้า 70% ซึ่งมีมูลค่าการตลาดที่สูง  จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME)” นายอนุชากล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้บูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในอุตสาหกรรมการส่งเสริมชีววิทยาศาสตร์เพื่อให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการจากหลายภาคส่วน เช่น ผลักดันมาตรฐานการปลูกสมุนไพร โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะสนับสนุน SMEs ในเรื่องการเงิน การบริหารจัดการ การขาย เช่น การจัดโครงการ Big Brother สร้าง SMEs ให้เป็นนักธุรกิจที่ดี ที่เก่ง และมองหาตลาดได้ รวมถึงเชื่อมโยงกับตลาด และมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เปิดคลินิกให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะให้คำปรึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย สินค้านวัตกรรม เปิดบ่มเพาะผลิตภัณฑ์  สนับสนุนเงินทุน เตรียมเอกสารการขออนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของประเทศ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เสริมสร้างความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตและใช้ประโยชน์ได้จริง ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุชาฯ กล่าว