ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

5 สำนักข่าวประกอบด้วย Hfocus The Better Today The Active และคมชัดลึก ผนึกกำลังร่วมจัดเวทีดีเบต ”นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66“ มีตัวแทนจาก 10 พรรคการเมืองร่วมเวที ช่วงแรกเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะ 3 นโยบายหลักที่ทางพรรคจะทำหลังจากที่ได้เป็นรัฐบาล

จากข้อมูลพบว่านโยบายหลักที่แต่ละพรรคกำลังหาเสียงในเวลานี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 14 นโยบาย ครอบคลุมประเด็นโครงสร้าง บุคลากรและสิทธิประโยชน์  แต่ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดคือการที่ภาคประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของสิทธิการใช้บริการในแต่ละกองทุนยังแตกต่างกันอยู่คือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งภาคประชาชนเสนอว่าควรมีการรวม 3 กองทุนให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเดียวให้ สำนักงานหลักประกันสุขแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นคนบริหารจัดการ

นายสมชาย กระจ่างแสง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สะท้อนว่าจากการที่เขาทำงานได้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนที่ไม่เหมือนกัน เขาจึงเสนอให้มีการรวมกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

“จับความรู้สึกของหลายพรรคก็เหมือนจะเห็นด้วยในเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เท่ากัน แต่ไม่อยากไปก้าวล่วงกระทรวงฯ หรือแก้กฎหมายซึ่งในทางปฏิบัติจะยั่งยืนไหม”นายสมชายกล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังเสริมว่าการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรวมสิทธิให้อยู่ภายใต้กองทุนเดียวกันจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับ สปสช. และเสนอให้ทุกพรรคการเมืองยกเลิกการจ่ายเงินประกันตนด้านสุขภาพ เนื่องจากเป็นภาระให้แรงงานในขณะที่กองทุนอื่น ๆ ไม่ต้องจ่าย

ด้าน พรรคการเมืองมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่าควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน แต่ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดพูดชัดเจนว่าควรรวมกองทุนทั้ง 3 กองทุนให้เป็นกองทุนเดียวโดยให้เหตุผลสนับสนุนที่ต่างกันออกไป

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ภูมิใจไทย เสนอจัดการให้ทุกสิทธิมีสิทธิเท่าเทียมกัน จะรวมหรือไม่ให้ดูที่กฎหมายที่มีอยู่ พูดคุยตกลงกันหากติดขัดตรงไหนค่อยไปแก้ที่กฎหมาย  ด้าน อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า  เสนอให้ทำทุกสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ต้องรวมกองทุน หันไปเน้นการจัดการคอขวดของการให้บริการสิทธิบัตรทอง  ขณะที่ทพ. อุดมศักดิ์ ศีสุทิวา ชาติไทยพัฒนา พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา พรรครวมไทยสร้างชาติ ชัดเจนไม่รวมกองทุนแต่ควรยกระดับสิทธิให้เท่าเทียม เพราะแต่ละกองทุนมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน พร้อม ๆ กับการอัปเกรดสุขภาพ

ด้าน  นพ.พลเดช สุวรรณอาภา พรรคเสรีรวมไทย เสนอให้รวมกองทุนประกันสังคมให้ไปอยู่ภายใต้ สปสช.ควบคู่กับการถามความเห็นประชาชน  นพ.เทียนชัย สุวรรณเพ็ญ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ประชาชนไม่ว่าจะใช้สิทธิใดควรมีอิสระในการเลือกรับบริการ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พรรคเพื่อไทย เสนอ สร้างหนึ่งมาตรฐานภายใต้กองทุนประกันสุขภาพที่บริหารแบบองค์กรโดยให้ สปสช.เป็นองค์กรหรือบริษัทที่ซื้อประกันสุขภาพให้ประชาชน ขณะที่ สุวดี พันธ์พานิช พรรคไทยสร้างไทย และ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล ยังคงเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ด้านสิทธิประโยชน์ด้วยการยกระดับสิทธิที่หายไป

ขณะเดียวกันในประเด็นที่ภาคประชาชนเสนอเพิ่มเติม คือขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการให้บริการสาธารณสุข ยกเลิกการจ่ายเงินประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปรับการให้บริการฉุกเฉินเป็นฟรี และนิยามคำว่าฉุกเฉินจากสีแดงให้ครอบคลุมสีเหลือง และมีนโยบายชัดเจนในการดูแลแรงงานข้ามชาติ โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพที่ก่อให้เกิดมลพิษในชุมชน ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนี้แต่ละพรรคยังมีนโยบายด้านอื่น ๆ อีกหลากหลายในการยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขทั้งเชิงรุก ป้องกัน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ 14 นโยบาย ครอบคลุมโครงสร้าง บุคลากร และสิทธิประโยชน์ขณะที่ช่วงท้ายมีการถามถึงคนที่แต่ละพรรควางให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธารณสุข พรรคเพื่อไทยเสนอ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคภูมิใจไทยอยากครองเก้าอี้อีกสมัย ขณะที่อีกหลายพรรคบอกกระทรวงนี้สำคัญแต่ยังสงวนท่าทีในการเปิดเผยรายชื่อ